กรมประมง ขานรับ ธรรมนัส สั่งลุย !! ระดมพล 9 วัน นำเรือประมง 1200 ลำ ที่ได้เพิ่มวันทำการประมง เข้าระบบ พร้อมออกทำประมงเปิดศักราชใหม่ 1 ม.ค. 2567 สร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจได้กว่าพันล้านบาท

   เมื่อ : 02 ม.ค. 2567

 นายบัญชา  สุขแก้ว  รองอธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า หลังการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาประมงทะเล ครั้งที่ 2/2566 โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนวันทำการประมงไม่เพียงพอ จำนวน 1200 ลำ ดังนี้ 
         1. ฝั่งอ่าวไทย 
         1.1 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำหน้าดิน จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 50 วัน
         1.2 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลาผิวน้ำ จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 50 วัน
         1.3 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 30 วัน
         2. ฝั่งทะเลอันดามัน 
         2.1 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงสัตว์น้ำหน้าดิน จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 20 วัน
         2.2 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลาผิวน้ำ จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 30 วัน
         2.3 กลุ่มเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก จัดสรรวันทำการประมงเพิ่ม จำนวน 50 วัน
(โดยการจัดสรรวันทำการประมงเพิ่มเติมสำหรับเรือประมงแต่ละลำขึ้นอยู่กับจำนวนวันทำการประมงที่เหลืออยู่ของเรือประมงลำนั้น)

 

บัดนี้ กรมประมง ดำเนินการเพิ่มวันทำการประมงให้กับเรือประมงทั้ง 1200 ลำดังกล่าวข้างต้น ผ่านระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (E- License) ของเรือแต่ละลำจนเสร็จเรียบร้อย เมื่อเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2566  ซึ่งระบบจะลิงค์ข้อมูลวันทำการประมงที่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมกับระบบการแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง (FI) ทำให้ชาวประมงที่วันทำการประมงไม่เพียงพอสามารถออกไปทำการประมงได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประมงปีนี้ แล้วจะมีการจัดสรรวันการประมงรอบใหม่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป  ซึ่งถือเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง และนำทรัพยากรสัตว์น้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้กว่า 1000 ล้านบาท


         รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดสรรการเพิ่มวันทำการประมงในครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้หลักและข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งได้มีการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งพี่น้องชาวประมง นักวิชาการภาคการศึกษา ฯลฯ โดยกรมประมง มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ จริงใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาภาคการประมงไทย และไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมงควบคู่ไปกับวิถีความเป็นอยู่และอาชีพของพี่น้องชาวประมงที่มั่นคง ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท้ายนี้ ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาโดยตลอด และมองเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน