เมล็ดพันธุ์ตราศรแดงรับมอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืช โดย กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอกย้ำแบรนด์เมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหนังสือ รับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืช
โดยมีนาย JC Filippi (เจซี ฟิลิปเป้) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีสท์ เวสท์ ซีด เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ณ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี
“ เรามีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ห้องปฏิบัติการตรวจศัตรูพืชของเราได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ และกรมวิชาการเกษตร จากที่กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายผลักดันการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืชของบริษัทเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ในการยืนยันว่าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชที่ส่งออกจากประเทศไทยปราศจากศัตรูพืชและโรค ตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศที่นำเข้า จากนโยบายนี้เราในฐานะภาคเอกชนเล็งเห็นว่าทางบริษัทฯ มีศักยภาพในการที่จะได้รับการรับการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืช ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเชื่อมั่นของภาครัฐที่มีต่อบริษัทเอกชน เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยภาครัฐ หรือกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับโอกาสเช่นเดียวกันนี้ในการพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานในการขยายขอบข่ายตรวจโรคในเมล็ดพันธ์ุเพิ่มเติมเพื่อการส่งออกต่อไป “ นาย JC Filippi (เจซี ฟิลิปเป้) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีสท์ เวสท์ ซีดกล่าว
ที่ผ่านมา อีสท์ เวสท์ ซีด ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) และสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) เพื่อร่วมกันปรับปรุงมาตรฐานการรับรองการตรวจห้องปฏิบัติการเพื่อการรับรองโรคในเมล็ดพันธุ์ตามข้อกำหนดในการส่งออกเมล็ดพันธุ์ เพื่อการออกใบรับรองสุขอนามัยพืชโดยกรมวิชาการเกษตร ซึ่งความร่วมมือนี้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของอีสท์ เวสท์ ซีด ในการพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งมอบเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงถึงมือเกษตรกร
ปี พ.ศ. 2564 กรมวิชาการเกษตรมีนโยบายให้บริษัทเอกชนยื่นความประสงค์ขอรับการตรวจสอบการยอมรับความสามารถห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืช ทางอีสท์ เวสท์ ซีดได้เข้าร่วมในการขอรับรองมาตรฐานนี้ และเมื่อ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมาทางอีสท์ เวสท์ ซีด ได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตรว่าห้องปฏิบัติการตรวจสอบสุขภาพเมล็ดพันธุ์ของฝ่ายประกันคุณภาพ ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรในการตรวจสอบโรคไวรัส ToBRFV ที่สำคัญในพริกและมะเขือเทศ ซึ่งจากการรับรองนี้ทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมและได้ยื่นขอขยายขอบข่ายความสามารถในการตรวจสอบโรคต่อไปนี้
1. BFB โดยวิธีการ SE-qPCR ในพืชตระกูลแตง 11 ชนิด
2. CGMMV SqMV โดยวิธีการ ELISA ในพืชตระกูลแตง 11 ชนิด
3. TMV ToMV PMMoV โดยวิธีการ ELISA ใน มะเขือเทศ มะเขือ และ พริก
4. Pospiviroids โดยวิธีการ SE-qPCR ใน มะเขือเทศ และ พริก
“ อีสท์ เวสท์ ซีด เราส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับภาคการเกษตรอย่างเสมอมา การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของไทยมีการเติบโตแบบยั่งยืน เราในฐานะภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนและทำงานอย่างเต็มที่เพื่อยกระดับสังคมด้านเกษตรกรรมที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” คุณรานีวรรณ รามศิริ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง) กล่าว
“ การตรวจสอบศัตรูพืชถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบศัตรูพืชของไทย และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านเมล็ดพันธุ์ผักเขตร้อนคุณภาพสูงของโลก (World Leader of Tropical Seeds) โดยกรมวิชาการเกษตร ได้วางเป้าหมายการส่งออกเมล็ดพันธุ์มูลค่ากว่า 15000 ล้านบาทต่อปีซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประสานการทำงาน ทำให้เกษตรกรและชุมชนเข้มแข็ง พร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์อย่างยั่งยืน
กรมวิชาการเกษตรใช้นโยบาย “ตลาดนำการวิจัย” และ “ตลาดนำการผลิต” โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงสำหรับเกษตรกร อีกหนึ่งของแผนการดำเนินงานก็คือ การผลักดันการรับรองห้องปฏิบัติการกำจัดตรวจสอบศัตรูพืชของบริษัทเอกชน ในการอำนวยความสะดวกในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช เพื่อยืนยันว่าพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชที่ส่งออกจากประเทศไทยปราศจากศัตรูพืชและโรค และเป็นไปตามข้อกำหนดการนำเข้าของประเทศที่นำเข้า
ผมขอแสดงความยินดีกับบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด อีกครั้ง สำหรับความสำเร็จในการได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการตรวจสอบศัตรูพืช และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด จะมีความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาการผลิต และการส่งออกเมล็ดพันธุ์ต่อไปในอนาคต” นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
-------------------------------