“ศุภมาส” จับมือเยอรมนีลงนามปฏิญญายกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของ 2 ประเทศครอบคลุม 10 กิจกรรมทั้งการทำโครงการวิจัยร่วมกันในระดับทวิภาคีและพหุภาคี การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักศึกษาโดยไม่จำกัดสาขา ชี้ไทยได้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าประชุมระดับรัฐมนตรีของคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD Committee for Scientific and Technological Policy (CSTP) Ministerial) โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. และผู้บริหาร อว. เข้าร่วม ณ สำนักงานใหญ่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
ในโอกาสนี้ น.ส.ศุภมาส ได้ลงนามใน “ปฏิญญาร่วมแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” กับนางเบททีนา ชตาร์ก-วัทซิงเงอร์ รมว.การศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เป็นผู้แทนฝ่ายเยอรมนี ในการยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างกันให้มีทิศทางและความสอดคล้องกับประโยชย์ของทั้งสองฝ่ายบนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน เสรีภาพทางวิชาการและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่จำกัดสาขาความร่วมมือ
น.ส.ศุภมาส เปิดเผยหลังลงนามความร่วมมือว่า สำหรับกิจกรรมความรวมมือตามปฏิญญาครั้งนี้ จะครอบคลุมใน 10 กิจกรรม อาทิ การประกาศรับข้อเสนอร่วมกันสำหรับโครงการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี การส่งคณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ แลกเปลี่ยนความร่วมมือ การส่งเสริมให้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยของทั้ง 2 ประเทศดำเนินความร่วมมือในโครงการวิจัยร่วม การแลกเปลี่ยนข้อมูล วัสดุและเอกสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมให้นักศึกษาและสถาบันการศึกษาใช้ประโยชน์จากโครงการและความร่วมมือที่มีอยู่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศไทยและเยอรมันอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนกิจกรรมขององค์การแลกเปลี่ยนวิชาการเยอรมัน1 (Deutscher Akademischer Austauschdienst: DAAD) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะสถาบันทางวิทยาศาสตร์ตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรม ค.ศ. 1983 ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลเยอรมนี เป็นต้น
“การลงนามปฏิญญาร่วมฯ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างใกล้ชิด การพัฒนาทักษะให้กับบุคลาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยรวมทั้งการแสวงหาโอกาสความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายตลอดจนการต่อยอดความร่วมมือในหลากหลายมิติ เป็นต้น” น.ส.ศุภมาส กล่าว
#####