นักวิทย์ซินโครตรอนหาเอกลักษณ์ “แจงสุรนารี” เดินหน้าสร้างมูลค่าพรรณไม้เฉพาะถิ่นโคราช
นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์ “แจงสุรนารี”
พรรณไม้ที่เคยค้นพบว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกเมื่อปี 2564 และเดินหน้าหาสารสำคัญเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าให้กับแจงสุรนารีซึ่งเป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่นจังหวัดนครราชสีมา
นครราชสีมา – ดร.กาญจนา ธรรมนู นักวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ ได้ร่วมกับ นายรุ่งเพชร ปัญญาวุฒิ ผู้รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายสำนักงานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.มทส.) และนักวิจัยของศูนย์ ศึกษาลักษณะกายวิภาคศาสตร์เมล็ด แจงสุรนารี และแจงสยาม โดยใช้รังสีอินฟราเรดจากแสงซินโครตรอน เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ จัดจำแนกความแตกต่างระหว่างชนิด และวิเคราะห์สารสำคัญเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่า”
รองศาสตราจารย์ ดร.ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “การค้นพบแจงสุรนารี เกิดจากทีมสำรวจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เก็บตัวอย่างและสำรวจในพื้นที่ อ.สีคิ้ว และ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยเมื่อปี พ.ศ.2564 ดร.ปรัชญา ศรีสง่า นักพฤกษศาสตร์ จากองค์การสวนพฤกษศาสตร์ และ รศ.ดร.สันติ วัฒฐานะ นักพฤกษศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ อพ.สธ.มทส. ตรวจสอบชื่อพฤกษศาสตร์ที่ถูกต้อง พบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก และตั้งชื่อทางพฤษศาสตร์ว่า Maerea koratensis Srisanga & Watthana และตั้งชื่อไทยว่า “แจงสุรนารี” ที่มาของชื่อมาจากชื่อระบุชนิด “koratensis” คือ โคราช หมายถึงจังหวัดแหล่งที่พบ และพบเฉพาะจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น โดยชื่อไทยตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ท้าวสุรนารี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี”
ด้าน ดร.กาญจนา ธรรมนู กล่าวเพิ่มเติมว่า “ต้นแจงเป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์และสรรพคุณของต้นแจง เช่น แก้ลดไข้ แก้วิงเวียน แก้ปวดเมื่อย ซึ่งทีมวิจัยได้พิสูจน์ความเป็นเอกลักษณ์ของเมล็ดแจงสุรนารี โดยใช้เทคนิค SR IR microspectroscopy เปรียบเทียบเมล็ดแจงสุรนารีกับเมล็ดแจงสยามที่เก็บตัวอย่างจากในพื้นที่
ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ผลการวิเคราะห์พบว่า เมล็ดแจงสุรนารีนั้น มีปริมาณไขมันที่สูงกว่าเมล็ดแจงสยาม ขณะที่เมล็ดแจงสยามมีปริมาณโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่สูงกว่า ข้อมูลเบื้องต้นนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปสู่การศึกษาเชิงลึก เช่น การหาปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ การหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาเป็นเวชภัณฑ์หรือเวชสำอาง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาพืชสมุนไพรของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อไป”
#######