สอศ. ร่วมมือเดนมาร์ก อัพเลเวล ครูเกษตร ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างอาชีวะเกษตรคุณภาพรุ่นใหม่

   เมื่อ : 08 ก.ย. 2566

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรของไทยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับเดนมาร์ก ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สอศ. และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร และงานฟาร์ม ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก ให้กับครู อาจารย์ และบุคลากร จำนวน 60 คน จากสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2566 ณ โรงแรมสยามธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์  ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ กล่าวว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรของไทยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับเดนมาร์ก มี Mr. Niels Erik Jespersen (ผู้เชี่ยวชาญการจัดการฟาร์มวัว) and Ms. Marianne Kyed (ผู้เชี่ยวชาญด้านฟาร์มสุกร) จาก Dalum Academy of Agricultural Business Denmark (สถาบันฝึกอบรมด้านธุรกิจเกษตร เดนมาร์ก) เป็นวิทยากรบรรยาย มีหัวข้อดังนี้ 1.ประวัติศาสตร์ความเป็นมา และกระบวนการคิดและการสอนในเดนมาร์ก 2.ระบบการศึกษาในเดนมาร์ก 3.การจัดการ – การผลิตปศุสัตว์ 4.การจัดการฟาร์มโคนม 5.การเกษตรที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศ-รวมการจัดการข้อมูลและเครื่องมือเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการใช้สารอาหารให้เหมาะสม 6.การทําฟาร์มในอนาคต และฟาร์มอัจฉริยะ และ 7.โครงสร้างพื้นฐาน – การเกษตร – ธรรมชาติ – อุตสาหกรรมและชีวิตในเมือง เพื่อให้ครูและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และนำความรู้ เทคนิคต่างๆ จากการบรรยายมาปรับ ประยุกต์ใช้ในการยกระดับศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของวิทยาลัยการเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ตลอดจนพัฒนาเสริมสร้างโครงสร้างให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่เน้นความยั่งยืนตามนโยบายเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเกษตรสมัยใหม่ ร่วมบรรยายพิเศษ ในโครงการฯ และกล่าวในตอนหนึ่งว่า “ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจกับ Smart Technology ที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร และการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีสามารถอาศัยทุนความได้เปรียบในความหลากหลายเชิงชีวภาพ เพื่อต่อยอดการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค จึงนับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ครู อาจารย์ จากสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ทั้ง 4 ภาคของไทยที่เข้ารับการอบรมจะได้ความรู้และเทคนิคต่างๆ สู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรมของประเทศต่อไป”

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ