สวธ.เชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมแสดงความยินดี และรับฟังบทเพลงจากวงสุนทราภรณ์ ในงาน “งานฉลองสงกรานต์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

   เมื่อ : 06 ธ.ค. 2566

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เตรียมจัดงานใหญ่ ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand Traditional Thai New Year Festival) ในโอกาสที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO จะได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2566 (เวลาประเทศไทยประมาณ 17.00 น.) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา 

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมแสดงความยินดี และรับฟังบทเพลงจากวงสุนทราภรณ์ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม 2566 เวลา 19.00 – 21.00 น. ภายในงาน  ฉลองสงกรานต์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ (Songkran in Thailand Traditional Thai New Year Festival) ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม โดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ในความควบคุมของครูณรงค์ เนตรเจริญ ได้เตรียมบทเพลงทั้งสิ้น 41 บทเพลงมาร่วมแสดงในงานฉลองสงกรานต์ครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็นแต่ละประเภท อาทิ (รำวง) รำวงวันสงกรานต์ โดย หมู่สงกรานต์ (คิวบัน) แผ่นดินทอง โดย พรศุลี (บีกิน) ร้อนนี้พี่ยังหนาว โดย กีตาร์-คุณานนต์ หลิมพานิช (ช่าช่าช่า) เริงลีลาศ โดย จิมมี่-บัญชา-ต๊ะ-พิเชษฐ์-ซัน -ชาตรี (ช่าช่าช่า) สุขกันเถอะเรา โดย หมู่คลื่นลูกใหม่ (รุมบ้า) หนึ่งน้องนางเดียว โดย โอ๋-ศราวิน วงษ์สุวรรณ (กัวราช่า)   มองอะไร โดย มาย-ชัชญากา อมรบุญชัย (ออฟบีท) รอยรักร้าว โดย แจน-นันทพร ค้าผล (ตลุง) ตลุงโนราโนรี        ศรีธรรมราช โดย หมู่สุนทราภรณ์ (วอลซ์) ฝากรัก โดย มีน-ณัฏฐ์นรี มะลิทอง (แทงโก้) ชะตาฟ้า โดย มุข-มุขอันดา-โน้ต-พรชย (ควิก วอลซ์) หยดน้ำเจ้าพระยา โดย มีน-ณัฏฐ์นรี-ต๊ะ-พิเชษฐ์ (ฟอกซ์ทร็อต) น่าเพลินใจ โดย โน้ต-พรชัย-โอ๋-ศราวิน (ควิกสเต็ป) เพลงราตรี โดย มุข-มุขอันดา ใจยง (แซมบ้า) เพลงฟ้า โดย แจน-นันทพร นำหมู่ (ร็อก)            ไม่อยากจากเธอ โดย หมู่คลื่นลูกใหม่ชาย และ (โซล) วิมานสงกรานต์ โดย หมู่สุนทราภรณ์ เป็นต้น

 

โอกาสนี้ ขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทยและชาวต่างชาติ ร่วมแสดงความยินดีและมีส่วนร่วมในการสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ต่อไป