นักวิชาการ มก. เสนอแนะเชิงนโยบายด้านการคลัง เศรษฐกิจการเกษตร สิ่งแวดล้อม เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยอย่างมีประสิทธิผล
วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักเพื่อเสริมสร้างงานวิจัยและงานบริการวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ตอบสนองและรับผิดชอบต่อสังคม โดยจัดการสัมมนา เสวนา และฝึกอบรมแก่บุคลากร ตลอดจนองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง
โดยในปีงบประมาณ 2567 ร่วมกับสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมศิษย์เก่าเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ จัดเสวนาในหัวข้อ “เปลี่ยนผ่านประเทศไทย: การเปลี่ยนไปที่ต้องไม่เหมือนเดิม ณ ห้อง 5205 อาคารปฏิบัติการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มสมบุญชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนา ทั้งนี้ เพื่อร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดเชิงนโยบายระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นที่เกี่ยวกับแนวนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม วิทยากรได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ ด้านนโยบายการคลัง รองศาสตราจารย์ ดร.อิสริยา บุญญะศิริ ด้านนโยบายเศรษฐกิจการเกษตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภสม สินเพิ่มสุขสกุล สรุปการเสวนาดังนี้
นโยบายด้านการคลัง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนสิน ถนอมพงษ์พันธ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่า 5% มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นถึงระดับ 20% ควรมีการปรับปรุงและแก้ไขโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาแข่งขันได้ ความท้าทาย 4 ด้านได้แก่
1) การขยายตัวของระดับหนี้ครัวเรือนเกิน 90% ของ GDP ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ภาระการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยในสถานการณ์ดอกเบี้ยสูงเริ่มจะประสบปัญหา
2) ความเสี่ยงทางด้านการลงทุน จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 70-75% มาอยู่แค่เพียงที่ 60-65% อัตราการผลิตที่ลดลง ทำให้ยากที่จะถึงจุดคุ้มค่าการลงทุน ทำให้ธุรกิจชะลอการลงทุนใหม่ๆ
3) ความเสี่ยงของการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จากค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่สูงขึ้นรวดเร็วในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเร็วเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพของแรงงานทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง บริษัทข้ามชาติเลือกลดหรือย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีแรงงานถูกกว่า โดยในกลุ่มสินค้าส่งออกพบว่ามีสัดส่วนของสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูงลดลง โดยระหว่างปี 2003-2008 กับ 2014-2019 จะพบว่ากลุ่มสินค้าส่งออกที่เคยมีความซับซ้อนสูงหายไป เช่น คอมพิวเตอร์ถูกทดแทนด้วย วัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงานแทน
4) ความเสี่ยงของภาครัฐ จากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้หนี้สาธารณะ ถีบตัวสูงขึ้นไปเกินระดับ 60% ของ GDP หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาระในใช้เงินภาษีในอนาคตมาจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคต
จากวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในกรอบเวลาระยะสั้นเรื่องความจำเป็นที่จะกระตุ้นการใช้จ่าย ในส่วนนโยบายระยะสั้นที่จะกระตุ้นรายจ่ายโดยโยบาย Digital Wallet 10000 บาท ซึ่งจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้มุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานรากโดยรัฐบาลได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ
ซึ่งจากผลการศึกษาของการสนับสนุนเงินโอนของรัฐให้ประชาชนในอดีตพบว่ามีค่าไม่สูงมากนัก อยู่ระหว่าง 0.4-0.9 เท่า โดยมีเพียงเงินโอนที่ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีตัวคูณทวีสูงถึง 1.4 เท่า และจากการประเมินพบว่าต้นทุนของมาตรการดังกล่าวอาจสูงถึง 560000 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลใช้การกู้ยืมเงินทั้งจำนวนจะคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.2% ของ GDP ปี 2565 เพิ่มเติมระดับหนี้สาธารณะของประเทศขึ้นไปอีก ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็น 22.9% ของเงินกองทุนประกันสังคมที่ 2.4 ล้านล้านบาท ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ 2.75% รัฐบาลจะมีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มอีกปีละ 15400 ล้านบาท ไม่รวมค่าเสียโอกาสจากการใช้เงินลงทุนดังกล่าวสร้างสาธารณูปโภคอื่นๆที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้ นับว่าเป็นต้นทุนที่สูงมากๆสำหรับนโยบายระยะสั้น จากประเด็นดังกล่าวมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้
- ควรมีการจำกัดมาตรการกระตุ้นรายจ่าย 10000 บาทให้เฉพาะผู้มีรายได้น้อย (ตัวคูณทวี 1.4x) และการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลด้วยการใช้ Digital Wallet อาจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วเช่น Prompt Pay / เป๋าตัง Wallet เป็นต้น
- ในระยะยาว ภาครัฐควรลดการใช้มาตรการกระตุ้นรายจ่ายในลักษณะเงินโอนแบบไม่เฉพาะเจาะจง (ตัวคูณทวี 0.4-0.9x) ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลอาจเน้นการสร้าง ecosystem บน digital wallet หรือการนำการให้บริการในระบบราชการมาอยู่บน App เดียวกัน เช่นการจ่ายค่าปรับ ค่าธรรมเนียม หรือจ่ายภาษีเป็นต้น
นโยบายด้านเศรษฐกิจการเกษตรควรเป็นไปในทิศทางใด โดย รศ.ดร.อิสริยา บุญญะศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จากการที่รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจการเกษตรไว้ที่สำคัญ ได้แก่
(1) การพักชำระหนี้ กำหนดให้เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการต้องมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 โดยรวมแล้วไม่เกิน 300000 บาท มีสถานะปกติ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีประสิทธิผล ภาครัฐควรกำหนดมาตรการพักชำระหนี้รายย่อย ให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน การส่งเสริมให้การอบรมเรื่องทักษะด้านการจัดการการเงินและการทำบัญชีครัวเรือนฟาร์มควบคู่ นอกจากนี้อาจมีการสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีความสามารถในการชำระหนี้คืนเงินต้นในช่วงเวลาของการพักหนี้ นอกจากนี้ไม่ควรจำกัดเฉพาะในกลุ่มที่หนี้ไม่เกิน 300000 บาท และในการพัฒนาศักยภาพควรรวมทั้งศักยภาพในและนอกภาคการเกษตร เพื่อเป็นการฝึกทักษะอาชีพที่หลากหลาย
(2) นโยบายผลักดันส่งเสริมเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสร้าง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยเน้นแนวทางในการปรับเปลี่ยนไปสู่การปลูกพืชที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีประสิทธิผล ควรใช้ตลาดนำการผลิต และตลาดต้องสอดคล้องกับศักยภาพของชุมชนและท้องถิ่นเพื่อให้ผลผลิตมีปริมาณมากพอที่สามารถส่งให้กับตลาดได้ทันเวลา ดังนั้น ควรร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ อาศัยการวิจัยและพัฒนา และการบูรณาการความรู้
3. นโยบายในการส่งเสริมเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร” โดยเกษตรกร สถาบันเกษตรกรเป็นเจ้าของเครื่องมือเครื่องจักรกลของตนเอง พร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีประสิทธิผล มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญในเรื่องศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร และการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของทีมให้บริการ
4. ข้อเสนอแนะนโยบายเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ ไม่ควรดำเนินนโยบายแทรกแซงราคา/ควบคุมราคาปัจจัยการผลิต การเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพิ่มรายได้ และลดต้นทุนการผลิต โดยการเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาภาคเกษตร การเพิ่มการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ารพัฒนาความรู้การจัดการฟาร์มที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับเกษตรกร การพัฒนาทักษะการจัดการ และการบริหารการเงินให้กับเกษตรกร การเพิ่มทางเลือกในการปลูกพืชอื่นและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคเกษตร การมีเครือข่ายชุมชนให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยี และนโยบายสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการที่มีผลิตภาพการผลิตสูง
นโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้มีการแถลงถึงการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มุ่งเน้นไปที่การขับเคลื่อนประเทศร่วมกับทุกภาคส่วนไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 การบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมเกษตรแม่นยำ การบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ การวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช รวมถึงการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นควัน PM2.5 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ได้แถลงไว้ยังขาดรายละเอียดถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายว่าจะมีแนวทางการดำเนินการเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรกับรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ควรนำมาใช้ให้มากขึ้นแทนการใช้มาตรการบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว
ความเพียงพอและความต่อเนื่องของงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา โดยงบประมาณรายจ่ายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของไทยคิดเป็น 0.32% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าประเทศมาเลเซียประมาณ 2 เท่า และต่ำกว่าสหภาพยุโรปประมาณ 5 เท่ารวมถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบรรลุเป้าหมายที่ได้แถลงไว้ รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีน้อยมากและผันผวนในแต่ละปี สำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฝุ่นควัน PM2.5 โดยเฉพาะในภาคเกษตร ภาครัฐควรเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินช่วยเหลือจากการเยียวยาให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไขไปสู่การช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขพร้อมความรู้และหลักประกันความเสียหายเพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยน เช่น การปรับใช้ในแนวทางเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ โดยขอความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและเอกชนในพื้นที่พร้อมกับงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ ควรส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียนและการทำเกษตรผสมผสาน ควรสนับสนุนให้มีการรวมแปลงและเศรษฐกิจแบ่งปันสำหรับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมตลาดเช่าบริการเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่และมีการแข่งขันที่เหมาะสม ควรส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้กับการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ / 2 ตุลาคม 2566