เลขา สอศ.จับมือ ประธาน อ.กรอ.อศ. ชูเทคนิคถลางพัฒนาอุตสาหกรรมการบินครบวงจร

   เมื่อ : 28 ส.ค. 2566

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 นี้ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  (กอศ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เดินทางมายังวิทยาลัยเทคนิคถลาง อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่า สถานศึกษาอาชีวศึกษาทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตให้ความสำคัญกับการผลิตและพัฒนากำลังคน ในสาขาที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต 10 เสาหลัก เสาหลักด้านการศึกษา การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ (Education Hub)  เสาหลักด้านบริการ เช่น Gastronomy/ Marina Hub/ Tourism / MICE City ฯลฯ วิทยาลัยเทคนิคภูเก็ต เปิดสาขาวิชาช่างกลเรือ (ซ่อมเรือยอร์ช) วิทยาลัยเทคนิคถลาง เปิดสาขาวิชาช่างอากาศยาน และสาขาธุรกิจการบิน  วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เปิดสาขาวิชา โรงแรม-อาหาร  วิทยาลัยสารพัดช่าง เปิดหลักสูตรระยะสั้นต่างๆ วิทยาลัยเทคโนโลยีภูเก็ต เปิดสาขาวิชาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดย สอศ. มีการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) จำนวน 42 สาขาวิชา /สาขางาน  ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  ซึ่งในจังหวัดภูเก็ต มี ศูนย์ CVM 3 ศูนย์ คือ วิทยาลัยเทคนิคถลาง เป็นศูนย์ CVM สาขาช่างอากาศยานและ CVM สาขาธุรกิจการบิน วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต เป็นศูนย์ CVM สาขาการโรงแรมและการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีสถานศึกษาของอาชีวศึกษาที่มีศักยภาพสูง ผลิตและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัดภูเก็ต และความต้องการกำลังคนของประเทศอย่างแท้จริง

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มการขนส่งผู้โดยสารจากทั่วโลกกลับมาอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคนี้ ดังนั้นความต้องการกำลังคนด้านอุตสาหกรรมการบิน จากสถิติเที่ยวบินของจังหวัดภูเก็ต ขณะนี้อยู่ที่ 222 เที่ยวต่อวัน  สาขาช่างอากาศยานซึ่งเป็นสาขาที่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานสากล โดยมีสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ให้การรับรอง

ซึ่ง สอศ.ให้ความสำคัญด้านการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงด้านนี้ โดยเปิดสอนใน  6 สถานศึกษา คือ วิทยาลัยเทคนิคถลาง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี   และวิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น ประเทศไทยมีสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพียง 5 แห่ง โดย 4 แห่ง เป็นสถานศึกษาสังกัด สอศ. คือ วิทยาลัยเทคนิคถลาง ซึ่งได้รับการรับรองเป็นที่แรกของ สอศ. ตามมาด้วย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี  ส่วนอีก 2 แห่ง กำลังขอรับการรับรอง  

การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาให้ความสำคัญกับคุณภาพผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษา และสาขาช่างอากาศยาน มีความแตกต่างจากหลักสูตร ปวส.ในสาขาอื่น หลายประการ เช่น ผู้สอนจากเจ้าของอาชีพ และได้รับการ Audit จาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการ คือ ศูนย์ซ่อมของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานระดับโลกและเป็นศูนย์ฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง  (Maintenance  Experience) ซึ่งทั้งสองสถานประกอบการได้รับการ Audit จาก สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิการศึกษาระดับ (ปวส) และ Certificate รับรองอีก  6 รายการ อีกทั้งมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำงาน

ผู้สำเร็จการศึกษาที่จบจากสถาบันการฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน (AMTO) โดยผู้เรียน หลังจบไปทำงานกับสายการบินหรือสถานประกอบการที่เป็น  Maintenance  Organization  ( AMO ) ซึ่งมีทั้ง  Line & Light Maintenance (LLM) หรือ Maintenance Repair Organization เป็นเวลา 2 ปี จะมีสิทธิ์สอบทำ License ได้ โดยมีอัตราค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่ได้สูงกว่าวุฒิการศึกษารายได้เริ่มต้นที่ 20000 – 35000 บาท /เดือน  
     เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  กล่าวเพิ่มเติมว่า สอศ. ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมการบิน และภาคประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้ให้คำแนะนำ ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน โดยเป้าหมายของ สอศ. จะขยายการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ครอบคุลมทุกภูมิภาค รวมทั้งเปิดสาขาให้ครอบคลุมอาชีพที่หลากหลายในกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ขณะนี้ได้มีการจัดทำหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ และเตรียมความพร้อมที่จะเปิดการเรียนการสอนในปีถัดไป  เช่น สาขาอากาศยานไร้คนขับ Unmanned Aerial Vehicle: UAV หรือ Drone  และสาขาช่างอุปกรณ์และบริการอากาศยานในลานจอด (GSE)

 

“วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญ ในการมาเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคนิคถลางวันนี้  พร้อมภาคีเครือข่ายที่สำคัญคือบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยนายเชิดพันธ์  โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัทการบินไทยจำกัด (มหาชน) และคณะ เพื่อหารือด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงในสาขาช่างอากาศยาน ของ สอศ. เพื่อตอบสนองความต้องการที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากพลังร่วมระหว่าง สอศ. กับ อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน และสถานประกอบการ โดยเฉพาะบริษัทการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์  ที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือ การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงภายใต้มาตรฐานที่กำกับโดย CAAT ที่เชื่อมโยงเป็นไปตามมาตรฐาน  ICAO และ EASA ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะได้มาซึ่งการรับรอง การที่สถานศึกษาของ สอศ. สามารถผ่านการรับรองต้องขอขอบคุณผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนศูนย์ CVM คือ นาวาอากาศตรี บัญชา ชุนสิทธิ์ ประธาน อ.กรอ.อศ กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ทีมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทุกๆท่าน และที่สำคัญคือ บริษัทภาคีเครือข่ายมากมายที่ร่วมจัดการศึกษา รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาที่เข็มแข็งและให้ความสำคัญ” เลขาธิการ กอศ.  กล่าว

 

 

////ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา  26 สิงหาคม 2566///////