มจธ.ปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการฯ รุ่นที่ 11 เสริมศักยภาพและทักษะคนพิการ 42 คนพร้อมส่งต่อสู่สถานประกอบการและการประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

   เมื่อ : 03 พ.ย. 2567
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดพิธีปิดโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ รุ่นที่ 11 เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในสถานประกอบการและการประกอบอาชีพ ณ ห้องพุทธรักษา ชั้น 3 อาคารสัมมนา มจธ. โดยมีนายสุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการ ได้กล่าวต้อนรับและรายงานความก้าวหน้าของโครงการ และรศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี ได้กล่าวแสดงความยินดีและมอบวุฒิบัตรให้กับคนพิการที่เข้าร่วมโครงการ

รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 เพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ ทั้งด้านทักษะการทำงาน การปรับตัว และการอยู่ร่วมกัน ซึ่งไม่เพียงเพื่อการทำงานในสถานประกอบการ แต่ยังเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานดูแลคนพิการ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ เช่น สำนักงานจัดหางานเขตพื้นที่ 2 ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการพระประแดง และสำนักงานเขตทุ่งครุ รวมถึงบุคลากรภายใน มจธ. ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการนี้

“ทั้งนี้ การอบรมเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าทำงานในสถานประกอบการ รุ่นที่ 11 มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านการทำงานและการประกอบอาชีพ และเสริมสร้างความมั่นใจในการดำรงชีวิตและสร้างคุณค่าให้กับคนพิการ ซึ่งโครงการฯ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงศักยภาพ ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่กล่าวถึงเสมอว่าเราต้องทำให้ Disability หรือความพิการ เปลี่ยนเป็น Productivity ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศได้”

ด้านนายสุเมธ ท่านเจริญ ประธานโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานสำหรับคนพิการ กล่าวว่า ในปีนี้ทางโครงการฯ ได้เปิดอบรมมาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2567 ใช้ระยะเวลา 6 เดือน มีคนพิการเข้าร่วมอบรม จำนวน 42 คน แบ่งเป็นพิการด้านความเคลื่อนไหว 32 คน ด้านสติปัญญา 7 คน ด้านการได้ยิน 2 คน และด้านการมองเห็น 1 คน ผ่านการอบรมใน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน 18 คน หลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล 12 คน และหลักสูตรการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่น 12 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 รวม 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท ดานิลี่ จำกัด บริษัท ศรีไทย มิยากาวา จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สโตเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

“ในการดำเนินงาน เรามีการพัฒนาทั้งเรื่องเทคโนโลยีในการฝึกอบรมและเครื่องมือในการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา มีการให้คนพิการฝึกใช้แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดฝึกอบรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งระบบอออนไลน์ผ่านโปรแกรม zoom และใช้ระบบ e-learning ในการเรียนการสอน ทำให้การติดตามและการให้คำปรึกษาเป็นไปอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหวังว่า คนพิการที่ผ่านการอบรมและฝึกงานในโครงการฯ จะได้นำความรู้ความสามารถไปประกอบอาชีพเพื่อดูแลตัวเอง สร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้ และหวังอย่างยิ่งว่าโครงการนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศ โดยที่ผ่านมาทั้ง 11 รุ่น มีคนพิการที่ผ่านโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 411 คน มีสถานประกอบการทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนรับคนพิการที่ผ่านโครงการฯ เข้าทำงานแล้วมากกว่าร้อยละ 50”

นางสาวทิพยรัตน์ จันทรสุวรรณ หรือ แตงกวา กล่าวว่า ตนเองเคยทำงานเป็นผู้ช่วยธุรการในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงได้ลาออกจากงานและกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่ที่ต่างจังหวัด พอได้ทราบว่าได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ รู้สึกดีใจมาก ส่วนที่เลือกเรียนหลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพราะเป็นหลักสูตรที่สนใจอยากเข้ามาเรียนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แม้ไม่เคยเรียนหรือมีความรู้เรื่องการออกแบบมาก่อน แต่พอได้เข้ามาอบรมพบว่า ไม่ยากอย่างที่คิด หากไม่เข้าใจก็ได้เพื่อนๆ ค่อยช่วยเหลือ สามารถเรียนรู้การออกแบบและผลิตเป็นชิ้นงานได้จริง เหมือนเป็นหลักสูตรเร่งรัด ผลงานที่ได้ทำขึ้น คือ ออกแบบรูปเป็ดบนร่มให้กับแบรนด์ “ทำ” รู้สึกภูมิใจ ซึ่งหลังจากที่เข้าร่วมอบรม ทำให้ได้ทักษะในการออกแบบมากขึ้น ต่างจากก่อนหน้าที่ไม่รู้อะไรเลย ตอนนี้ได้พื้นฐานเกี่ยวกับการออกแบบสื่อฯ ค่อนข้างครบที่เหลือก็อยู่ที่เราจะต้องหมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้น เพื่อให้มีทักษะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเองก็จะคอยฝึกฝนเพื่อนำไปสร้างอาชีพฟรีแลนด์ต่อไป

 

ด้าน นายสิทธิกานต์ เพชรเกตุ หรือ บาส คนพิการด้านการเคลื่อนไหว กล่าวว่า เมื่อปี 2562 เกิดอุบัติเหตุรถล้ม ต้องหยุดเรียนไป 1 ปี เพื่อไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจังหวัดระนอง จนต้องยอมรับความจริง หลังจากนั้นก็กลับไปฝึกสอนจนจบปริญญาตรี แต่เพื่อไม่ต้องการให้เป็นภาระของครอบครัว ได้เห็นลู่ทางการแก้วแฮนด์เมด D.I.Y. ด้วยการนำขวดที่ไม่ใช้แล้วมาตัดเป็นแก้วหรือแจกัน แล้วเพ้นท์ลายนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว แต่เมื่อเห็นว่ามีโครงการนี้ ก็อยากเข้ามาร่วม เพราะอยากก้าวข้ามความรู้สึกที่ว่าทำไม่ได้ ซึ่งในโครงการนี้ทำให้ผมเห็นคุณค่าของตัวเองและคนพิการคนอื่นๆ ที่หลายคนมีความลำบากมากกว่าเรา แต่พวกเขาก็ยังออกมาพัฒนาตัวเอง จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพราะเห็นคุณค่าและโอกาสที่ดี และหลังจากจบหลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานแล้ว ตั้งใจว่าปีหน้าจะมาสมัครเข้าอบรมต่อในหลักสูตรการผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์ดิจิทัล เพื่อได้มีความรู้หลายด้านมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับตัวเราเองและจะได้เอาความรู้ไปพัฒนา ไปสอนเด็กๆ ในชุมชนในหมู่บ้านต่อไป เพราะเด็กต่างจังหวัดยังขาดโอกาสในการเรียนรู้การใช้งานการใช้โปรแกรมต่างๆ อีกมากและเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อีกด้วย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ