ราชภัฎทั่วประเทศ พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ สืบสานศาสตร์พระราชา

   เมื่อ : 22 พ.ค. 2568
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอกย้ำบทบาท “การเป็นศูนย์กลาง ในการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเปิดบ้านต้อนรับ ผู้นำนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่ง เข้าค่ายผู้นำเยาวชนคนราชภัฏ ครั้งที่ 2 หรือ Rajabhat Young Leadership Program 2025 (RYLP#2) ภายใต้หลักสูตรพิเศษ “ราชภัฏสืบสานศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่าง วันที่ 13 – 17 พฤษภาคม 2568 ครั้งนี้มีผู้นำนักศึกษาเข้าร่วม จำนวน 444 คน

การจัดโครงการฯ ครั้งนี้ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประธานในพิธีเปิดและพิธีปิดโครงการ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสืบสานศาสตร์พระราชาและการพัฒนาผู้นำเยาวชนให้มีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมและประเทศชาติจากความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการสานต่อพระราชปณิธานสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ในฐานะศูนย์กลางการเรียนรู้และขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน พร้อมเป็นเวทีในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ ควบคู่กับคุณธรรมและจิตสำนึกสาธารณะ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้นำเยาวชนราชภัฏทั้ง 444 คน จะเป็นพลังสำคัญในการสืบสาน รักษา และต่อยอด สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป สมดังคุณค่าและความภาคภูมิใจในความเป็น “ราชภัฏ” คนของพระราชา ข้าของแผ่นดินเพื่อพัฒนาสังคมไทย

พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า “สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพลังสำคัญในการปลูกฝังและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้นำเยาวชนราชภัฏ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้นำเยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศาสตร์พระราชา ที่สามารถน้อมนำไปสืบสาน รักษา และต่อยอด และประยุกต์ในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง สำหรับหลักสูตรพิเศษราชภัฏสืบสานศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ด้านการเกษตรให้กับผู้นำรุ่นใหม่นำไปสื่อสารและขยายผลต่อไป”

ค่ายผู้นำเยาวชนคนราชภัฏ ครั้งที่ 2 ตลอดระยะเวลา 5 วัน นักศึกษาผู้นำจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบรรยาย การฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้อย่างมีความสุขผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ในอาคารและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เสริมสร้างทักษะการเป็นผู้นำ และปลุกจิตสำนึกในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน กิจกรรมสำคัญประกอบด้วยการเรียนรู้พระเกียรติคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยด้านการเกษตร

ผ่านการเข้าชมนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศด้วยศาสตร์พระราชา เพื่อความผาสุกของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า เรียนรู้การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช ในพิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรมซึ่งเป็นพระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการดูแล อนุรักษณ์ทรัพยากรไทย ที่นำเสนอคุณค่าและความสำคัญของพันธุกรรมท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพที่ควรรักษาและใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า เรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศป่าไม้ไทย ในพิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร เรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการดิน ในพิพิธภัณฑ์ดินดล ปิดท้ายการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในอาคารด้วยการเข้าชมภาพยนตร์แอนิเมชัน 3 มิติ “เรื่องของพ่อในบ้านของเรา” และชมภาพยนตร์ 7 มิติ “The Magic Box ขุมทรัพย์แห่งแผ่นดิน”

 

ความภาคภูมิใจของคนไทย ผ่านแนวคิด “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชกรณียกิจของพระบรมราชชนก อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือการลงมือปฏิบัติจริงในฐานเรียนรู้เกษตรพอเพียงเมือง และฐานเรียนรู้ 1 ไร่พอเพียง ซึ่งผู้นำนักศึกษาได้ฝึกทักษะการทำเกษตรแบบพอเพียง อาทิ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกผักไมโครกรีน การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า ปลูกผักคอนโด และการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อเรียนรู้การจัดการพื้นที่และทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้จริง

โครงการค่ายผู้นำเยาวชนคนราชภัฏในครั้งนี้ นับเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ที่หลอมรวม ศาสตร์พระราชา เข้ากับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นการสร้างเครือข่ายกิจการนักศึกษาและเครือข่ายผู้นำระดับมหาวิทยาลัย เสริมสร้างบุคลิกภาพ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) การใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และการพัฒนา Soft Skills ผ่านกระบวนการ “วิศวกรสังคม” เพื่อให้ผู้นำเยาวชนสามารถนำพาการเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่มหาวิทยาลัย ชุมชน และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

นอกจากนี้ ตัวแทนนักศึกษาผู้นำเยาวชนเผยความประทับใจจากการร่วมเรียนรู้พระเกียรติคุณและ พระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะแนวคิด “ขาดทุนคือกำไร” สะท้อนถึงการให้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งตระหนักถึงพระวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนผ่านโครงการต้นแบบมากมาย ซึ่งล้วนเป็นแนวทางที่ประชาชนสามารถน้อมนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง

 

                                        #####

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ