วิจัยชุมชนตั้งเป้า“สุรินทร์เป็น HUB การผลิตเส้นไหมคุณภาพ” หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)

   เมื่อ : 09 ต.ค. 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนช ริทินโย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นักวิจัยจากโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์และการบริการสร้างสรรค์ ตามรอยอารยธรรมของอีสานใต้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้” ซึ่งสนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ขึ้นชื่อ ดังนั้น โจทย์การพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณภาพจึงเป็นโจทย์แรกของการทำงาน โดยในระยะต้นน้ำต้องยกระดับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
หลังจากลงพื้นที่สำรวจการผลิตเส้นไหม พบว่า ในจังหวัดสุรินทร์สามารถผลิตเส้นไหมได้เพียงปีละ 37 ล้านบาทเท่านั้น สวนทางกับความต้องการของตลาดในจังหวัดที่ต้องการเส้นไหมปีละ 1000 ล้านบาท เพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า เบื้องต้นจึงต้องนำเข้าเส้นไหมมาจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ “การทำงานในช่วงต้นน้ำคือต้องผลิตเส้นไหมให้ได้มากขึ้น จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นน้ำด้วยการเริ่มต้นที่ต้องมีใบหม่อนที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากพอในการเลี้ยงหนอนไหม ที่ผ่านมา ใบหม่อน 1 ไร่ ได้ผลผลิตที่เป็นใบหม่อน จำนวน 900 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งไม่พอเลี้ยงไหม นักวิจัยจึงเข้าไปช่วยวิจัยเรื่องการจัดการเรื่องดิน น้ำและการตัดแต่ง เพื่อให้ได้ใบหม่อนให้มีคุณภาพ ทำให้ยกระดับการเลี้ยงไหมได้ดีขึ้น”
สำหรับช่วงกลางน้ำนักวิจัยมีการแก้ปัญหาการเลี้ยงหนอนไหมแบบซ้อนรุ่น และปรับเรื่องการให้อาหารที่ถูกต้อง การจัดโรงเรือนและปรับสภาวะแวดล้อมการเลี้ยงที่เหมาะสม เบื้องต้นก่อนการปรับเกษตรกรเลี้ยงไหมได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังอยู่ที่ 12-15% ซึ่งเปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมจะเปลี่ยนแปลงไปตามคุณภาพรังไหมที่เกษตรกรเลี้ยงได้ โดยตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นปริมาณที่น้อย จากผลการสำรวจ พบว่า หลังจากปรับเปลี่ยนการเลี้ยงหนอนไหมและการให้อาหาร ทำให้ได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ โดยทุก ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ จะได้ความยาวเส้นไหมเพิ่มขึ้นมา 30 เมตร ดังนั้น หากเกษตรกรเลี้ยงไหม 1 รุ่น ได้รังไหม 10000 รัง นำมาคูณ 30 เมตร จากเปอร์เซ็นต์เปลือกรังที่เพิ่มขึ้น จะได้เส้นไหม 300000 เมตรต่อรอบการผลิตรังไหม

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อผลิตเส้นไหมและการเตรียมเส้นไหม นักวิจัยได้พัฒนาเครื่องจักรสำหรับการผลิตเส้นไหมและการเตรียมเส้นไหม ประกอบด้วย เครื่องสาวเส้นไหม เครื่องช่วยฟอกและย้อมสีเส้นไหม เครื่องตีและควบเกลียวเส้นไหม เครื่องขึ้นลำมัดหมี่ เครื่องค้นหูกเส้นไหม และเครื่องช่วยขึ้นม้วนเส้นไหม ซึ่งทำให้สามารถผลิตเส้นไหมให้มีคุณภาพเกรด A และประสิทธิภาพการผลิตเส้นไหมสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ “กระบวนการต่าง ๆ ที่เข้าไปทำวิจัยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นกระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มากพอสมควร สามารถลดการซื้อเส้นไหมจากที่อื่นได้ 100 % สามารถลดความเมื่อยล้าจากกรรมวิธีการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตเส้นไหมในขั้นตอนต่างๆ 

 

เป้าหมายสำคัญของโครงการคือการสร้างนวัตกรชุมชนที่มีทักษะในการเสริมสร้าง การต่อยอด และการขยายความรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น และสุดท้ายเราตั้งเป้าว่าจังหวัดสุรินทร์จะเป็น HUB ของเส้นไหม เมื่อนึกถึงเส้นไหมที่มีคุณภาพต้องที่จังหวัดสุรินทร์เท่านั้น”

ด้านแม่บัวไข เติมศิลป์ นวัตกรชุมชนและประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ สะท้อนมุมมองของงานวิจัยที่เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม ว่า หลังจากมีนักวิจัยเข้ามาทำให้เกิดการทำงานที่เป็นระบบและเกิดความสามัคคีในชุมชน สำหรับการยกระดับการทำงาน ทางกลุ่มปลุกหม่อนเลี้ยงไหม ได้รับการพัฒนาจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชัยภูมิ ที่เข้ามาส่งเสริมและเกิดการพัฒนาเส้นการพัฒนาพัฒนาด้านต่างๆ เช่น วิธีการเลี้ยงไหม วิธีการสาวไหม และกระบวนการต่าง ๆ รวมทั้งการกำหนดราคาผลิตภัณฑ์จากทางกลุ่มฯ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“เมื่อก่อนถูกกำหนดราคาด้วยพ่อค้าคนกลางแต่วันนี้เราสามารถกำหนดราคาเองได้ ไม่ต้องรอให้พ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อเพราะเรามีตลาดที่รองรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เรามีการปลูกผักสวนครัวไปด้วยขยายแปลงผัก คือปลูกทุกอย่างที่กินได้เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ความสุขของแม่คือการที่เราได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตัวเองและเพื่อน ๆ ในชุมชน ซึ่งเป็นการรักษารากเหง้าของการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของบรรพบุรุษ เป็นสิ่งที่แม่ภาคภูมิใจมาก” 

 

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการผลิตวัตถุดิบอย่างเส้นไหมให้ทอเป็นผ้าไหมสุรินทร์ที่มีคุณภาพ สู่โจทย์วิจัยในการพัฒนาเพื่อยกระดับขีดความสามารถของนวัตกรชุมชนในวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ ภายใต้การทำงานวิจัยที่ใช้โจทย์ชุมชนเป็นตัวตั้งต้นโดยคำนึงถึงปัญหา ความต้องการ หรือความสนใจของคนในชุมชน ที่มุ่งเน้นการหาทางแก้ไขหรือพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น.

 

                                  ######