มาดามแป้ง - ประธานกรรมการกองทุนฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนฯ และอธิบดี สวธ. สนับสนุน Soft Power ทั้ง 11 สาขา เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรม ของศิลปินแห่งชาติ – ผู้ทรงคุณวุฒิ สู่ระดับนานาชาติ

   เมื่อ : 17 มิ.ย. 2567

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม และนายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรรมการและเลขานุการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ได้พิจารณาสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการอุดหนุนจากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่การดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมของบุคคล คณะบุคคล องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติภายใต้โครงการสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗

 

นางนวลพรรณ กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อน Soft Power ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรม และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ๑๑ สาขา ๑) แฟชั่น ๒) อาหาร (๓) เฟสติวัล ๔) ออกแบบ ๕) ดนตรี   ๖) กีฬา ๗) หนังสือ ๘) เกม ๔) ศิลปะ ๑๐) ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ๑๑) ท่องเที่ยว ให้ครอบคลุมในทุกมิติ            

 

ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม

จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยภาพรวมนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๖๗ ได้ให้การส่งเสริมโครงการด้านศิลปวัฒนธรรมของศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ผู้มีผลงานดีเด่น ทางวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน คณะบุคคล องค์กรภาครัฐและเอกชน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และ ระดับนานาชาติไปแล้ว รวมทั้งสิ้น ๓๒๙ โครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า ๑๕๒๖๐๖๘๑๕ บาท (หนึ่งร้อยห้าสิบสองล้าน หกแสนหกพันแปดร้อยสิบห้าบาท)

 

ประธานกรรมการกองทุน ฯ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในปี ๒๕๖๗ กองทุนส่งเสริม งานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มีผู้สนใจยื่นขอรับทุน ๗๔ โครงการ ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ว่าด้วยเงื่อนไขและรายละเอียด ของโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการอุดหนุนจาก กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ผลปรากฏว่า มีผู้ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติม ครั้งที่ ๓ จำนวน ๒๙ โครงกา รวมเป็นเงิน ๖๐๐๐๐๐๐ บาท (หกล้านบาทถ้วน) 

 

โดยเป็นศิลปินแห่งชาติ จำนวน ๑๘ ท่าน เป็นผู้มีผลงานดีเด่น  ทางวัฒนธรรม จำนวน ๒ ท่าน ทายาทศิลปินแห่งชาติ จำนวน ๔ ท่าน องค์กรภาครัฐ จำนวน ๑ องค์กร องค์กรภาคเอกชน จำนวน ๔ องค์กร และเป็นบุคคลทั่วไป จำนวน ๑ ท่าน โดยโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม ในครั้งที่ ๓ นี้  มีกลุ่มเป้าหมายเป็น นักเรียน นักศึกษา เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าร่วมกิจกรรม จำนวนทั้งหมด มากกว่า ๒๐๐๐๐ คน ได้แก่ โครงการสืบศิลป สู่ศิลป์ ของนายอินสนธิ์ วงศ์สาม ศิลปินแห่งชาติ โครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาศิลปินแห่งชาติผ่านการอบรม เชิงปฏิบัติการทางทัศนศิลป์ กิจกรรม “นวการลากและระบาย” ของศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการหนังสั้น “ประวัติชีวิตและผลงานของนายทวี รัชนีกร” ของนายทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติ โครงการจัดพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงาน ชุด “Retro Spective Realistic & Abstract” ของศาสตราจารย์ เดชา วราชุน ศิลปินแห่งชาติ

โครงการการอนุรักษ์สืบสานต่อยอดปณิธานในหลวง ร.๑๐ ชุดบูชาครู เหม เวชกร เพาะช่าง ศิลปากร และวัดโพธิ์ ก้าวเข้าสู่ ๗๗ ปี ปรีชา เถาทอง ของศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ประติมากรรม เชิงปฏิบัติการสู่ชุมชนแหลมสัก ของนายศราวุธ ดวงจำปา ศิลปินแห่งชาติ โครงการกิจกรรม “กระจกแก้ววรรณกรรม” ของนายอัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ โครงการการอบรมเชิง ปฏิบัติการเพื่อสร้างครูต้นแบบสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (การเขียนบทร้อยกรอง เรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี) ครั้งที่ ๓ ของรองศาสตราจารย์ ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการ วรรณศิลป์ล้านนากับงานช่าง ของนายเจริญ มาลาโรจน์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “ขนำน้อยกลางทุ่งนา” นิยายสำหรับเยาวชนดีเด่น ของจำลอง ฝั่งชลจิตร ของนายจำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ โครงการอนุรักษ์ สืบสานองค์ความรู้ ด้านศิลปะการแสดงดนตรีไทย ประเภทเครื่องเป่า (ขลุ่ย) เพื่อถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สู่เยาวชน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๗ ของนายปั๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “นาฏกรกราย รำร่ายสืบสานศิลป์” ของนางรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการ กำกับละครพื้นบ้านแบบ ”ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง” ของนายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ โครงการ ”วาดฟ้อนอีสาน” ประกอบการขับร้องหมอลำ จังหวัดขอนแก่น (ทุกประเภท) ของนางราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ศิลปินแห่งชาติ โครงการยกระดับองค์ความรู้ การเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสาน สร้างเศรษฐกิจและมุ่งสู่เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ด้านตนตรี จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ของ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการโรงเรียนตายายย่าน ของนางกั้น เชาวพ้อง ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “เสวนาอินคอนเสิร์ต กำเนิดวันเพลงลูกทุ่งไทย ตำนาน แห่งยุคสมัย เพลงแหล่” ของนายนคร ถนอมทรัพย์ และนายประยงค์ ชื่นเย็น ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “สอนเยาวชนหนังตะลุง ตอน ๑ เกร็ดความรู้จากครูหนัง เชิงปฏิบัติการ” ของนายอนันต์ สิกขาจารย์ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม โครงการสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะการแสดงฟ้อนเล็บ พื้นบ้านล้านนา นำพาภูมิปัญญายั่งยืน ของพระโสภณพัฒโนดม ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม โครงการ “อบรมปูนปั้น สรรค์สร้างสู่ลูกหลาน ครั้งที่ ๙” ของนางสาวสราญทิพย์ เอมโอษฐ ทายาท นายทองร่วง เอมโอษฐ ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “ศิลปะตามใจฉัน” ได้สติ เพิ่ม “สมาธิให้ยืนยาว” (ศูนย์ศิลปกรรมญาณพลวิเชียรเขตต์) ของนายญาณพล วิเชียรเขตต์ ทายาท นายชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติ โครงการศึกษากลบทจากวรรณกรรม หนังถิ่น ธรรมโฆษณ์ ของนายสมปราชญ์ อรมุต ทายาท นายจิ้น อรมุต (หนังจิ้น ธรรมโฆษณ์) ศิลปินแห่งชาติ โครงการถ่ายทอดการแสดงและแกะหนังตะลุง โดย นายเสนีย์ ทรัพย์สิน ของนายเสนีย์ ทรัพย์สิน ทายาทนายสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ โครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเผยแพร่ภาพลักษณ์ทางวัฒนธรรม ด้วยมิติการแสดง ด้านนาฏศิลป์ในระดับนานาชาติ” ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โครงการปราชญ์ล้านนา ภูมิผญาคนเมือง ของศูนย์การเรียนรู้เยาวชนรักษ์ถิ่นเกิด โครงการอบรม เชิงปฏิบัติการด้านภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนา โดยเครือข่ายครูภูมิปัญญาของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ของมูลนิธิสืบสานล้านนา โครงการประกวดวรรณกรรม รางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ของสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย โครงการเผยแพร่องค์ความรู้ครูเดือน พาทยกุล (ศิลปินแห่งชาติ) สู่ภูมิภาค ของมูลนิธิเตือน พาทยกุล และสุดท้าย โครงการการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อประเมินความฉลาด ทางนาฏศิลป์สำหรับเยาวชนไทย ของนายลิขิต ใจดี บุคคลทั่วไป 

 

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรม ผ่านกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม โดยสามารถบริจาคด้วยตนเอง หรือ โอนผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาถนนรัชดาภิเษก ชื่อบัญชี กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม เลขที่บัญชี ๐๖๐ - ๒ - ๑๖๕๑๑ ๗ หรือ เช็คสั่งจ่ายในนามกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า

 

                               #######

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ