เผยความสำเร็จการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ พร้อมส่งเพย์โหลดไปทดลองในสถานีอวกาศนานาชาติ เดือนก.พ. 68 ผลงาน บพค. - ม.เกษตรฯ - จิสด้า - องค์การนาซา

   เมื่อ : 22 พ.ค. 2567

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.  2567  นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุม “โครงการการทดลองผลึกเหลวในอวกาศ (TLC: Space Experiment Horizon)” เพื่อรับทราบความก้าวหน้าและเผยแพร่ความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมการทำงานวิจัยของบุคลากรร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับโลก ของ โครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) บนสถานีอวกาศนานาชาติ  (International Space Station ISS)

 

โดยโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และมีการประสานความร่วมมือด้านงานวิจัยในอวกาศระหว่างคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (องค์การนาซา NASA) ประเทศสหรัฐอเมริกา และห้องปฏิบัติการแห่งชาติสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS U.S. National Laboratory)

 

โอกาสนี้ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้กล่าวรายงานการดำเนินการโครงการฯ  รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม หัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการฯ ร่วมกับผู้แทนจาก NASA คือ Mr. Robert Hampton ISS Payload Operation Director และ Mr. Scott Rodriguez รองประธานบริษัท Voyager Space - Nanoracks LLC ที่ปรึกษาโครงการ TLC  

 

ทั้งนี้  ศ.ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ได้กล่าวนำเสนอความก้าวหน้าทางการวิจัย และเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 7 โรงแรม เดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

 

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงอว. กล่าวว่า ในวันนี้เรามารวมตัวกันเพื่อสร้างหมุดหมายสำคัญในการเดินทางของวิทยาศาสตร์อวกาศและการวิจัยเพื่อประเทศไทย และร่วมหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ (Thailand Liquid Crystals in Space (TLC)) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศและวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย ในขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการปล่อยอุปกรณ์เพย์โหลด (payload) สำหรับการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติในปี 2568 โดยโครงการได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นผลจากความทุ่มเท และความเชี่ยวชาญของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร รวมไปถึงบุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกคน

 

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

กล่าวถึงโครงการ TLC ว่ามาจากการ         ลงนามความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การ NASA เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 เพื่อการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้ประชาชน เยาวชน นักวิทยาศาสตร์ได้มองให้ไกลขึ้นจากพื้นโลก  มองไกลไปถึงนอกโลก เด็ก ๆ รุ่นใหม่จะได้ประโยชน์มากจากการทำวิจัยด้านอวกาศ ประเทศไทยเองมีนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะรัฐบาลไทยให้ความสำคัญในด้านอวกาศมาก  โครงการนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้นักวิจัยเริ่มการวิจัยขั้นสูงไปยังนอกโลกมากขึ้น  

 

ซึ่งประเทศไทยในอดีตเรายังมีน้อย มี GISTDA แห่งเดียวที่พยายามพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ  ข้อดีของโครงการนี้คือประชาชนเยาวชนได้เห็นตัวอย่างในการมองให้ลึกขึ้น จากเดิมอยู่แต่ในโลกก็มองไปนอกโลกด้วย  นอกโลกเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้าถึงได้  ซึ่งประเทศไทยเราไม่ควรเสียโอกาสนี้นักวิทยาศาสตร์และเด็กรุ่นใหม่ได้ประโยชน์มาก ประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นเศรษฐกิจจากนวัตกรรมภาคเกษตร ภาคอาหาร และภาคดิจิตอลเป็นส่วนใหญ่ โครงการนี้จะเป็นการเปิดมุมมองทางด้านอวกาศให้เกิดนวัตกรรมจากอวกาศ อนาคตจะมีการพัฒนาระบบจอภาพ  ระบบเพย์โหลดเพื่อเป็นลิขสิทธิ์ของทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   NASA   บพค. และรัฐบาลไทย

 

ซึ่งนวัตกรรมที่จะออกมาจากโครงการนี้มีถึง 7 ชิ้นด้วยกัน เช่น นวัตกรรมระบบให้ความร้อนแบบโปร่งแสง เป็นต้น เพราะอวกาศคือระบบสุญญากาศ  ระบบแบบสมบูรณ์ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้น  อวกาศไม่ใช่ที่เรียนรู้และความภาคภูมิใจเท่านั้นแต่ยังสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจได้ด้วย  โครงการนี้จะทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยดีขึ้น  ผมดีใจมากที่เห็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น  อาเซียนกำลังรอดูว่าโครงการที่เราทำกับ NASA จะได้ผลอย่างไร  และเขาก็อยากจะร่วมมือกับ NASA เหมือนกับเราเช่นกันซึ่งถือว่าเราเป็นผู้นำร่องให้กับภูมิภาคนี้

 

ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ.บพค. ได้แสดงแนวคิดทางรูปธรรมในการที่จะทำให้ประเทศไทยและคนไทยเข้าถึงกิจการทางด้านอวกาศว่าโอกาสใหม่ๆของคนไทยอยู่ในทุกพื้นที่  พื้นที่ในอวกาศก็เป็นพื้นที่ที่เราเข้าถึงได้ คนไทยเราสามารถพูดกับคนทั่วโลกได้ในภาษาหรือมาตรฐานระดับโลกได้โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันกับ NASA   บพค.สนับสนุนการเรียนรู้ การวิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับมัธยม โรงเรียน และระดับที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนากำลังคนของประเทศ. 

 

โครงการ TLC เป็นโครงการใหญ่โครงการหนึ่งภายใต้ National Agenda คือการสร้างและพัฒนากำลังคนของประเทศโดยอาศัยเศรษฐกิจอวกาศ เป็นจุดคานงัดในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยซึ่งมีความโดดเด่นอยู่แล้วทางด้านเศรษฐกิจ BCG ทั้ง biodiversity และ biocultural ประเทศไทยเป็นที่หนึ่ง แต่ถ้าเราจะทำให้ทั้งสองงานนี้โดดเด่นขึ้นมาต้องมีอวกาศเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในมุมการสร้าง พัฒนา กำลังคน ซึ่งจะตอบโจทย์ประเทศไทยเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ที่มีมาตรฐานระดับนาซา  และเป็นมาตรฐานการพัฒนากำลังคนในการพัฒนา System Engineer และวิศวกรรมอวกาศ 

 

โดยจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบใหม่ซึ่งปัจจุบันขับเคลื่อนโดยโครงการ Thai Space Consortium (TSC) และโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่บพค. ให้การสนับสนุนอยู่  งบประมาณวิจัยและนวัตกรรมถูกกำหนดทิศทางอย่างชัดเจนโดยสภานโยบาย 

 

โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  และดูแลโดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งมีแผนงานการสร้างและพัฒนา frontier technology โดยเทคโนโลยีอวกาศเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือ เป็นจุดคานงัดของเทคโนโลยี BCG  ทางด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม  และจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูง งบประมาณของรัฐบาลในการสนับสนุน Flagship program ของกระทรวงอว. นั้นมี บพค.เป็นผู้ดูแล จึงขอเชิญชวนทุกสถาบันวิจัย  สถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน ให้มาทำงานร่วมกันในการสร้างเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยต่อไป


 

ทางด้าน Mr. Robert Hampton ISS payload operation Director ได้พูดถึงโปรแกรมของ ISS ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยสามารถทำงานร่วมกับ implementation partner ภาคเอกชนในกำกับของ NASA  เพื่อพัฒนาโครงการวิจัยโดยการสร้างสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ สร้างกระบวนการการวิจัย กระบวนการทดสอบความปลอดภัยในอวกาศร่วมกันเพื่อยื่นข้อเสนอโครงการไปยังห้องปฏิบัติการแห่งชาติสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS U.S. National Laboratory)ได้  

 

มิสเตอร์โรเบิร์ตได้กล่าวแสดงความประทับใจมากที่เห็นว่าโครงการ TLC ดำเนินการมาได้ไกลมากนับจากวันที่ลงนาม MOU ระหว่าง NASA และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับโครงการนี้  ดีใจมากที่เห็นการสนับสนุนจากบพค. จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจาก GISTDA ที่ร่วมกันสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง  

 

มิสเตอร์โรเบิร์ตยังกล่าวถึงนิสิตนักศึกษา นักวิจัย และวิศวกรในโครงการ TLC ว่ามีความสามารถสูงและสามารถสร้างเพย์โหลดได้ก้าวหน้าไปกว่าแผนงานที่วางไว้ซึ่งเมื่อเพย์โหลดนี้ขึ้นสู่โอกาสในปีหน้า คือปี พ.ศ. 2568 การทดลองครั้งแรกนี้โดยคนไทยจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยอย่างแท้จริง  

 

 Mr. Scott Rodriguez รองประธานบริษัท Voyager Space – Nanoracks LLC กล่าวว่า Nanoracks สนับสนุนทั้งเพย์โหลดที่อยู่ภายในสถานีอวกาศและภายนอกสถานีอวกาศ และดูแลดาวเทียมด้วยเช่นเดียวกัน  ซึ่ง Nanoracks เป็นบริษัทที่ปรึกษาสำหรับโครงการอวกาศให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก และ Nanoracks เองก็มีประสบการณ์ในการสร้างเพย์โหลดขึ้นอวกาศมามากกว่า 1500 เพย์โหลด  Mr. Scott ประทับใจมากว่าทีม TLC เป็นทีมที่มีความพร้อมสูงมาก มีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อม แม้กระทั่งกล้องจุลทรรศน์ไฮเอนด์ที่เหมือนกับกล้องจุลทรรศน์บนสถานีอวกาศนานาชาติ ทาง บพค. ก็ให้การสนับสนุน  ซึ่งทำให้การทำงานในการสร้างอุปกรณ์อวกาศเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก  การทดสอบต่าง ๆ ทำได้ใกล้เคียงกับบนสถานีอวกาศนานาชาติมาก 

 

ทางด้านหัวหน้าโครงการ TLC รศ. ดร. ณัฐพร  ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าการทำโครงการอวกาศเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทมาก          เป็นการทำงานที่ต้องมีผู้สนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งจากมหาวิทยาลัย จากหน่วยงานรัฐบาลผู้ให้ทุน หน่วยงานด้านอวกาศทั้งในประเทศและต่างประเทศ และความร่วมมือจากภาคเอกชน  และเนื่องจากโครงการอวกาศเป็นเทคโนโลยีที่มีความละเอียดสูง 

 

ดังนั้นกระบวนการทดสอบเพย์โหลดเพื่อขึ้นสู่อวกาศจึงมีความละเอียดมากในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัย  โดยแต่ละครั้งของการประเมินจะมีวิศวกรจาก NASA กว่า 40 ท่านมาร่วมในการประเมินโครงการ ดังนั้นในทุก ๆ ขั้นตอนการทำงานทางทีมวิจัยและทีมที่ปรึกษาโครงการจากบริษัท Nanoracks จึงต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้เพย์โหลดสำเร็จตามแผนที่วางไว้  โดยเพย์โหลด TLC นี้จะถูกส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ โดยจะส่งจากฐานปล่อยจรวดที่ Kennedy Space Center มลรัฐฟลอริดา และจะมีระยะเวลาทำการทดลอง 3-6 เดือนบนสถานีอวกาศนานาชาติ

 

โครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) นี้มีที่มาจากบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างองค์การ NASA โดย Dr. Meredith M. Mckay Director of Human Exploration and Operations Division และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2564  เพื่อให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (GISTDA) นำโดย รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​เข้าร่วมในการศึกษาผลึกเหลวบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station ISS) โดย MOU นี้เป็น MOU แรกระหว่าง NASA และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับการทดลองอวกาศ

 

การทดลองผลึกเหลว (Liquid Crystal) ในอวกาศนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยี Liquid Crystal Display (LCD) ขั้นสูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  LCD ใช้เป็นหน้าจอ โทรศัพท์มือถือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประชากรของประเทศไทยในทุกๆระดับชั้น  อุตสาหกรรมผลิตจอภาพ LCD 

 

ในปัจจุบันนี้มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และมีแนวโน้มจะโตถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ. 2572 ซึ่งนับเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประชากรโลกทุกระดับชั้น ในการทำการทดลองผลึกเหลวในอวกาศนั้นจะกำจัดผลของแรงโน้มถ่วงของโลกไปได้ ซึ่งจะลดปริมาณจุดบกพร่องภายในผลึกเหลวลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นผลึกเหลวในอวกาศจะตอบสนองต่อสนามไฟฟ้าได้ดี 

 

การพัฒนานี้จะทำให้ได้หน้าจอ LCD ที่มีความเร็วสูง ใช้ปริมาณไฟต่ำ และมีความคมชัดดีเยี่ยม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดให้สามารถสร้างบนพื้นโลกในสภาวะใกล้เคียงกับอวกาศได้ในอนาคต นอกจากนี้ NASA มีแผนที่จะนำเทคโนโลยี LCD นี้ไปใช้กับ helmet ของชุดนักบินอวกาศ และพัฒนาเทคโนโลยีนี้เป็นกระจกอัจฉริยะไปใช้กับหน้าต่างของกระสวยอวกาศที่สามารถทนความร้อนและรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง


                                #######

 

ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / หัวหน้างานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ /20 พ.ค.67