รัฐมนตรี “ศุภมาส” หนุนไทยเป็นผู้นำโลก ผลิตและส่งออกอาหารสัตว์ให้ วศ. อว. เร่งผลิตวัสดุและห้องปฏิบัติการอ้างอิง เครือข่ายทั่วประเทศ รองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท
วันที่ 21 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านอาหารสัตว์ในลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เศรษฐกิจและอาหารสัตว์เลี้ยง แนวโน้มการส่งออกอาหารสัตว์ในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มสูงขึ้น และเศรษฐกิจไทยขยายตัว รองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท
อว. ได้ควบคุมสินค้าเหล่านั้นให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและความปลอดภัย โดย รมว.อว. เน้นย้ำให้นำงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารให้ครบวงจร ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) พัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์
โดยเน้นกระบวนการผลิต (manufacturing process) การประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ (quality assurance) และการควบคุมคุณภาพ (quality control) ของสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ให้ วศ.อว. เร่งผลิตวัสดุและพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง พร้อมเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อรองรับตลาดโลก เพิ่มมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท ให้ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ตระหนักถึงการส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการตรวจวิเคราะห์ทดสอบ และระบบการประกันคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ตามนโยบายของ รมว. อว. จึงเร่งให้ วศ. ผลิตวัสดุอ้างอิงตามมาตรฐานสากล สร้างการตรวจสอบกลับ เพื่อมั่นใจผลการวัดและควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ วศ. ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ
ได้เข้าไปมีบทบาทในระบบการประกันคุณภาพการทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี โดยการส่งเสริมห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารสัตว์ทั่วประเทศ จำนวนไม่น้อยกว่า 150 ห้องปฏิบัติการ ให้เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ และเร่งผลิตวัสดุ พร้อมทั้งพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิง ทั้งนี้ วศ.อว. พร้อมสร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยการวิเคราะห์หาปริมาณสารและองค์ประกอบหลักต่าง ๆ ในอาหารสัตว์จำพวกอาหาร เช่น เป็ด ไก่ ปลา วัว สุนัข เพื่อประเมินสมรรถนะของห้องปฏิบัติการว่ามีความสามารถในการทดสอบ ให้ค่าผลการวัดที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ปัจจุบัน วศ. สามารถผลิตวัสดุอ้างอิงด้านอาหารสัตว์ รายการ Water-soluble chlorides (as NaCl) รายการ minerals (Ca Cu Fe Mg Mn K Na Zn และ P) และรายการ Moisture Protein Crude fat Crude fiber and Ash ตามมาตรฐาน ISO 17034 และ ISO Guide 35 ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน พร้อมมีห้องปฏิบัติการนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของวิธีทดสอบ การทวนสอบของวิธีทดสอบ การสร้างและพัฒนาห้องปฏิบัติการเครือข่าย และควบคุมคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ไม่น้อยกว่า 379 ห้องปฏิบัติการ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ยื่นขอการรับรองการเป็นผู้ผลิตวัสดุอ้างอิง (reference material producer) ตามมาตรฐานสากลต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห้องปฏิบัติการในภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมบริการอาหารแห่งอนาคต
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตวัสดุอ้างอิงอาหารสัตว์ในประเทศ ช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอ้างอิงจากต่างประเทศ และได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ วศ.อว. เตรียมขยายการผลิตวัสดุอ้างอิงอื่น ๆ ให้ครอบคลุมกับความต้องการของภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพและมาตรฐาน ต่อไป
#####