๖ กุมภาพันธ์ วันมวยไทย เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าเสือ “พระบิดาแห่งมวยไทย”

   เมื่อ : 05 ก.พ. 2567

”มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวของชนชาติไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากบรรพชน ที่ได้รับการสืบทอดมาสู่ชนรุ่นปัจจุบัน เป็นศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัว ที่ฝึกฝนให้ร่างกายใช้อวัยวะทุกส่วนเป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มือ เท้า เข่า ศอก รวมถึงศรีษะ จึงเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ครบเครื่องมีพิษสงรอบด้าน จนเกิดการถ่ายทอดและมีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ได้รับความนิยมไปทั่วไม่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ถือเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนมวยไทยเป็น มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เพื่อสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นคุณค่า ห่วงแหนและยกย่ององค์ความรู้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ ได้รับการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด เป็นพลังในการกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทยให้มั่นคง

 

 จากความสำคัญของมวยไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้มีการสถาปนา ”วันมวยไทย” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบให้ กำหนดวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมวยไทย ซึ่งตรงกับวันเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (สมเด็จพระเจ้าเสือ) พระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ 

 

            พระเจ้าเสือ เป็นพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ที่เสด็จออกไปชกมวยกับสามัญชน ทรงแต่งกายเป็นชาวบ้าน ให้ทุกคนเข้าใจว่า เป็นนักมวยจากเมืองกรุง ชาวบ้านให้ความสนใจมาก เพราะสมัยนั้น นักมวยกรุงศรีอยุธยามีชื่อเสียงมาก ทำให้ได้คู่ชกเป็นนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษไชยชาญ ถึงสามคน ทยอยเข้ามาชกทีละคน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย  นายใหญ่  หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดด้วยต่างฝ่ายก็มีฝีมือ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและความชำนาญในศิลปะมวยไทย ที่ได้ทรงฝึกหัดและศึกษาจากสำนักมวยหลายสำนัก จึงทำให้พระองค์สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ติดต่อกันถึง ๓ คนได้ โดยที่คู่ต่อสู้ต่างได้รับความบอบช้ำเป็นอันมาก ทำให้ได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งบาท ฝ่ายผู้แพ้ได้สองสลึง เหตุการณ์นี้จึงเป็นตำนานบทหนึ่งที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถการต่อสู้ด้วยมวยไทย

 

จากการที่พระเจ้าเสือทรงพระปรีชาสามารถด้านการชกมวย มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า ทรงคิดและสร้างสรรค์ท่าแม่ไม้ กลมวยไทยขึ้นมาเป็นแบบเฉพาะพระองค์ เรียกว่า ”มวยไทยตำรับพระเจ้าเสือ” จากที่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยรัชการที่ ๕ ซึ่งเป็นตำรามวยตำรับพระเจ้าเสือที่เก่าแก่ที่สุด เป็นมรดกทางภูมิปัญญาจากบรรพชนที่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง และสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้  

 

( ที่มา  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม หนังสือที่ระลึก เนื่องในวันมวยไทย ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ )      

 

                                  #####

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ