วว. ผนึกกำลังเอกชน วิจัย พัฒนาแพลตฟอร์มประเมินปริมาตร/กักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

   เมื่อ : 07 ธ.ค. 2566

ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี         แห่งประเทศไทย  (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทน วว. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง            ความร่วมมือ กับ นายธีร์พัชร์ บุญดำรงสินธุ์ กรรมการ บริษัท เอนเนอยี่ โปรเฟสชั่นแนล จำกัด  ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่สนับสนุนและส่งเสริมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยด้านการตรวจวัดและประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจทั้งภาคป่าไม้และภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในการร่วมมือดำเนินโครงการ        ที่ปรึกษา การวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมเทคโนโลยีในการสร้างระบบปฏิบัติการ (Platform) เพื่อประเมินปริมาตร การทดสอบค่ากักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ และการกักเก็บคาร์บอนส่วนเหนือดินของพืชเศรษฐกิจทั้งภาคป่าไม้และการเกษตร  ดำเนินการศึกษาวิจัยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการจัดการพื้นที่และการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีในพืชไร่ รวมถึงการศึกษาและเสนอความเป็นไปได้ของโมเดลการเพิ่มมูลค่าจากการประเมินค่าการกักเก็บคาร์บอนในผลผลิตพืชไร่ในระหว่างการปลูก และโมเดลการจัดการพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและเสนอการรับรองระเบียบวิธีการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

 

โอกาสนี้ นายสมพร มั่งมี กรรมการ วว. พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) และนักวิจัย วว. ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่  7 ธันวาคม 2566  ณ  ห้องประชุม  กวท. ชั้.น 8  อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

 

รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า วว. มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเฉพาะด้านชีวภาพ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ซึ่งสอดคล้องกับกระแสโลกในด้านสิ่งแวดล้อม และการคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงการพัฒนาด้านงานวิจัยของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก         

 

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อศึกษาวิจัย การตรวจวัด และการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจทั้งภาคป่าไม้และภาคการเกษตร การทดสอบค่าการกักเก็บคาร์บอนในพืชเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประเมินการกักเก็บดังกล่าวแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุดและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป