ม.เกษตร ปลื้ม !!! ศาสตราจารย์ ดร. โนเอล คลาร์ก หัวหน้าทีมทำการทดลองผลึกเหลวในอวกาศทีมแรกของโลก ได้รับรางวัล Friend of Thai Science Award 2023 เชื่อมสัมพันธ์ให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) กับองค์การนาซา

   เมื่อ : 16 พ.ย. 2566

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด เมืองโบลเดอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา      ดร.เศรษฐพันธ์ กระจ่างวงษ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ได้เป็นผู้แทนนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในพิธีมอบรางวัล Friend of Thai Science Award 2023 ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร. โนเอล คลาร์ก นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด เมืองโบลเดอร์ 

 

ที่มาของรางวัลนี้มาจากการเสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร. โนเอล คลาร์ก โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากศาสตราจารย์ ดร. โนเอล คลาร์ก เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยโดยเป็นผู้ยื่นเสนอต่อองค์การนาซาให้นักวิทยาศาสตร์ไทย คือ รศ.ดร. ณัฐพร ฉัตรแถมและ ผศ.ดร. อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วมในโครงการการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ  หรือ OASIS II และได้รับการตอบรับจากองค์การนาซาจนเป็นที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างองค์การนาซาและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศลงนามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยปัจจุบันโครงการการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศได้ใช้ชื่อโครงการว่า Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) โดยมีรศ.ดร. ณัฐพร ฉัตรแถม เป็นหัวหน้าโครงการ โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)  และโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยประเทศไทยเป็นผู้ออกแบบและสร้างเพย์โหลดหรืออุปกรณ์การทดลองที่จะส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และองค์การนาซาและ ISS  National Laboratory จะเป็นผู้ดำเนินการส่งเพย์โหลดขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติในปีพ.ศ. 2569  

 

ในการดำเนินโครงการนี้ศาสตราจารย์ ดร. โนเอล คลาร์ก ได้ให้การช่วยเหลือในการเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมนักวิจัยไทยในการออกแบบอุปกรณ์สำหรับการทดลองอวกาศ  โดยท่านเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการทดลองผลึกเหลวในอวกาศ ซึ่งท่านได้เป็นหัวหน้าทีมทำการทดลองผลึกเหลวในอวกาศเป็นทีมแรกของโลกให้กับองค์การนาซาในโครงการ OASIS เมื่อปีพ.ศ. 2558

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ