”อาชีวะจัดกิจกรรม Mind Education Workshop เรียนดี มีความสุข”

   เมื่อ : 20 ต.ค. 2566

 

วันที่ 19 ตุลาคม 2566 สำนักงานอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (IYF) ประเทศไทย และวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี จัดกิจกรรม Mind Education Workshop ให้กับนักเรียนนักศึกษาของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานสำนักงานอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อได้เรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจผ่านการทำกิจกรรม โดยมีเรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม  และมีนางสาวมุกกรินทร์ สุมาริธรรม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี เป็นผู้กล่าววัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม พร้อมทั้งมีนายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา ปฎิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะผู้บริหาร เข้าร่วมพิธีเปิด กิจกรรม Mind Education Workshop มีนักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 600 คน ณ ห้องประชุมสุธี-ฉวีวรรณ มีนชัยนันท์ อาคาร 6 ชั้น 5 วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

 

 

นายทวีศักดิ์ คิ้วทอง ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัย ได้กล่าวให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม 2566 

 

ซึ่งในวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมาเป็นการจัดกิจกรรมให้กับครูผู้สอนในสังกัดอาชีวศึกษากรุงเทพฯ จำนวน 88 แห่งและในวันนี้เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับนักเรียนนักศึกษาสังกัดอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเรียนดีมีความสุข ตามนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 

 

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการแสดงเต้นวัฒนธรรมจากทวีปแอฟริกา ของนักเรียนโรงเรียนลินคอล์น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสกับเยาวชนที่ไม่สามารถเรียนต่อในระบบปกติได้ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต ยาเสพติด ครอบครัว แต่ผ่านทางการฝึกซ้อมการแสดง ทำให้นักเรียนได้ลองก้าวข้าวกรอบของความคิดที่ทำไม่ได้ และลองหักห้ามใจ ทำให้พวกเขามีความสุขจากการทำในสิ่งที่ตนไม่ชอบและไม่ถนัดได้

 

หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้ทำความรู้จักตนเอง ผ่านทางการทำกิจกรรมกราฟชีวิต ทำให้ผู้นำทางการศึกษาได้ ย้อนคิดถึงระดับความสุขและความทุกข์ในใจจากการใช้ชีวิตในแต่ละช่วง และนำกราฟชีวิตของตัวเองแบ่งปันกับคนข้างๆ ซึ่งบางท่านถึงแม้จะเป็นเพื่อนร่วมงานกันมานาน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องราวชีวิตซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่เพียงแค่รู้จักกันผิวเผินเท่านั้น แต่ได้รู้จักจิตใจกันมากขึ้น 
ซึ่ง นายธีรวัฒน์ อ่อนตานา นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือน้องโก้ ได้แบ่งปันช่วงเวลาการใช้ชีวิตที่คิดว่าจะมีความสุขจากเพื่อน จากยาเสพติด แต่ต้องถูกจับ  จนกระทั่งได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องโลกของจิตใจ จากผู้อำนวยการโรงเรียนลินคอล์นเฮ้าส์ “ทางที่ดูเหมือนว่าถูกต้อง แต่สุดท้ายสิ้นสุงลงด้วยความตาย” ทำให้ได้เห็นการใช้ชีวิตจากเดิมที่มีความคิดว่าเสพยา สนุก ค้ายา ทำให้ได้เงินเยอะ แต่ผลลัพธ์สุดท้ายจบลงด้วยความล้มเหลวและเรือนจำแน่นอน ตอนที่พบกับจิตใจของตัวเอง ทำให้น้องโก้ ได้เชื่อมต่อกับคุณครู และหลุดพ้นจากวังวนของยาเสพติด จากคนที่ไม่มีความหวังในการใช้ชีวิตก็กลับมีความหวังที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วย

 

 

และมาถึงช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดคือการฟังบรรยายเรื่องโลกของจิตใจ ในวันนี้ได้รับเกียรติจาก คุณดาวิด คิม ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาโลกของจิตใจที่ได้พูดถึงเรื่องพลังของการเชื่อมต่อ  ผู้นำทางการศึกษาทุกท่านไดตั้งใจฟังเป็นอย่างดี ผู้บรรยายได้พูดถึง ปัญหาการใช้ชีวิตของนักเรียน แต่ถ้าพวกเขาได้เชื่อมโยงจิตใจกับเราเรื่อยๆ สิ่งที่นักเรียนไม่มีสติปัญญา ไม่สามารถออกจากความคิดด้านลบของตัวเองได้ แต่ถ้าเชื่อมกับเราก็มีกำลังเกิดขึ้นได้ ผู้บรรยายได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวชีวิตของมินซอบ เด็กออทิสติก คุณพ่อที่มองลูกว่าเป็นออทิสติก แต่คุณพ่อได้รับพลังจากการเชื่อมต่อจากผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติว่า มินซอบเป็นเด็กปกติ ทำให้คุณพ่อเห็นว่าตัวเองต่างหากที่พิการ เพราะอยู่ในกรอบความคิดของตัวเอง ซึ่งตอนที่คุณพ่อเปลี่ยนจิตใจ ตอนนั้นชีวิตของมินซอบก็เปลี่ยนด้วย จากเด็กออทิสติกที่คุณหมอบอกว่าไม่สามารถเรียนจบในระดับชั้น ป. 4 ได้ ปัจจุบันมินซอบเรียนจบมหาวิทยาลัยในสาขาภาษาอังกฤษแล้ว 

 

และช่วงสุดท้าย ห้องเรียนจำลอง กิจกรรม 3.3.3.” กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างดีมากขึ้น เพราะโดยปกติคนทั่วไปในยุคปัจจุบันจะไม่ค่อยมีการสื่อสารพูดคุย และทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในที่สุด ชั่วโมงนี้จะเริ่มต้นโดยให้ผู้เข้าร่วมได้นึกถึงคนหนึ่งที่อยากจะไหลเวียนจิตใจด้วย โดยทางเราจะมีโจทย์ให้ 3 หัวข้อคือ 
1. สิ่งที่อยากจะขอโทษ 3 อย่าง 
2. สิ่งที่อยากจะขอบคุณ 3 อย่าง 
3. เขาสำคัญกับเราอย่างไร 3 อย่าง 

เมื่อตอนที่ทำกิจกรรมนี้ผู้นำและบุคลากรทางการศึกษาหลายท่านได้มีโอกาสได้นึกถึงคนที่อยากจะพูดคุยสื่อสารมากที่สุด และได้ลองนำสิ่งที่แต่ละท่านได้เขียนแบ่งปันให้กับเพื่อนข้างๆ หวังว่าแต่ละท่านจะนำจิตใจนี้สื่อสาร ไปถึงบุคคลที่เขียนถึง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดคำที่อยู่ในใจออกมาเลย ทำให้หลายครั้งไม่เข้าใจกัน และห่างเหินกัน แต่ผ่านทางกิจกรรมตรงนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นจิตใจและเข้าใจกัน ทำให้มีความสุขมากขึ้น บรรยากาศระหว่างการนั่งฟังบรรยายและการทำกิจกรรมเป็นไปได้ด้วยดี ผู้นำทางการศึกษาแต่ละท่านให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี ทุกคนต่างให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีเยาวชนมากมายที่มีปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น ครอบครัวแตกแยก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวไม่มีความสุข รวมไปถึงการทะเลาะเบาะแว้งในสถานศึกษา ยาเสพติด ที่มากขึ้น การที่ทุกฝ่ายมาเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมที่ดีและน่าสนใจมาก เข้าใจง่าย ก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียน นักศึกษา ทั้งยังมีช่วงให้ผู้เข้าอบรมได้ทำกิจกรรมด้วย ไม่น่าเบื่อ ทำให้จิตใจมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้น  อยากจะเรียนเชิญให้ทางวิทยากรมีโอกาสลงพื้นที่ตามสถานศึกษาต่างๆ หรือชุมชน เป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาจิตใจของทั้งบุคลากรและเยาวชนต่อไป