มรภ.สวนสุนันทา โชว์งานวิจัยต่อยอดนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน”
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีเปิดการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเวทีเสวนาผลงาน “ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่” โครงการที่ปรึกษาดำเนินงานหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน” จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สวนสุนันทา) ระหว่างวันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2566 ณ บริเวณชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลบางนา
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ผังนิรันดร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มรภ.สวนสุนันทา ให้การต้อนรับพร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวว่า การดำเนินงานของ มรภ.สวนสุนันทาในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับหลักการ 2 ประการ ประการแรก คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในหลายมิติบนฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1) ต่อยอดอดีต 2) ปรับปรุงปัจจุบัน และ 3) การสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต ประการที่สอง คือ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (SIDUP-Isan) ได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการศึกษาความเป็นจริงของชุมชนร่วมกัน ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อการพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมของชุมชนโดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากศาสตร์และการปฏิบัติในชุมชน ทั้งจากมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและท้องถิ่น โดยนำผลจากการพัฒนานวัตกรรมไปเผยแพร่สู่สังคม เพื่อแสดงถึงทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ และสามารถพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมของท้องถิ่น โดยกระบวนการสืบสาน ต่อยอด แก้ปัญหาสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย
ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การแสดงผลงานของ มรภ.สวนสุนันทา ได้รับงบประมาณสนับสนุนส่วนใหญ่ จากกองทุนศูนย์ส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในแง่ของการทำงาน โดยสามารถนำงบประมาณจาก กองทุน ไปใช้ ในการคิดค้นผลงานนวัตกรรมต่างๆ หรือ ต่อยอดสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนพื้นที่ ตามภารกิจของมหาวิทยาลัย อย่างที่เห็นโครงการการวิจัยและนวัตกรรมต่าง ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ก็มีผลงานที่มีความหลากหลาย และมีผลงานที่เสร็จสิ้นแล้วและเป็นผลงานที่ดีสามารถนำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้เป็นความสำเร็จจากขั้นแรกที่ ทาง สกสว.ให้การสนับสนุนงบประมาณ
และในขั้นต่อไปก็คือ งบประมาณในเรื่องของ การส่งเสริม การผลักดัน โดยนำงานวิจัยและนวัตกรรมนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นการทำวิจัยและนวัตกรรมจนได้ผลงาน และหลายผลงานที่มองว่าต่อยอดได้ก็ต้องส่งเสริมต่อยอดต่อเพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยนำผลงานเหล่านี้ไปสู่ชุมชนพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งอันนี้วิธีทำงานตรงนี้ก็มีหน่วยงานอย่าง NIA เข้ามาช่วยเสริม โดยเป็นงบของกองทุนเหมือนกัน แต่ NIA ก็จะทำงานร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา ซึ่งทำงานในหนึ่งพื้นที่จะต้องมองว่าพื้นที่ต้องการอะไร แล้วก็นำสินค้านวัตกรรมนั้นไปแสดงพื้นที่ โดยผู้ประกอบการในพื้นสามารถเลือก ผลงานชิ้นตนสนใจ แล้วเลือกนำไปใช้ได้ เราก็สนับสนุนเพิ่มเติม ในกระบวนการตั้งแต่การทำความเข้าใจในพื้นที่ การปรับปรุงพัฒนาหากมีอะไรเพิ่มเติมก็ใช้งบประมาณของกองทุนเข้าไปส่งเสริมให้ทำต่อ
ท้ายที่สุดก็คิดว่าประเทศไทยน่าจะถึงเวลาแล้วที่ เราน่าจะก้าวข้ามปัญหาต่างๆในระดับพื้นที่ในระดับประเทศ โดยใช้ความรู้ให้มากที่สุด ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เรามีนักวิจัยเก่งๆ ที่มีผลงานดีๆ ซึ่งหน้าที่ของกองทุน ช่วยในการเชื่อมโยงนวัตกรรมระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย จากนั้นนักวิจัยก็เดินหน้าคิดค้นเพื่อแก้โจทย์และต่อยอดพัฒนา ดังสโลแกนที่ว่า “ ขับเคลื่อนไทยด้วย ววน.” ววน.ในที่นี้ คือ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานวิจัย ซึ่งไม่ได้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา หรือ ไม่ใช่ มหาวิทยาลัย แต่เป็นหน่วยงาน ที่ทำวิจัย เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว ฯลฯ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ ก็เป็นหน่วยงานที่สร้างงานวิจัย และนวัตกรรม ใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน โดยกองทุนก็ให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน
นายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ในส่วนของ NIA เรามีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ที่เกิดต่อเมืองชุมชน และผู้ประกอบการในระดับพื้นที่ ซึ่งการทำงานร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา โดยพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการครั้งนี้ คือ พื้นที่ภาคอีสานตอนบนทั้งหมด ซึ่งมีผลงานที่เราให้การสนับสนุนรวม 9 ผลงาน ขยายสู่ 14 ชุมชน ใน 7 จังหวัดภาคอีสานตอนบน ผลงานเด่นๆ ที่นำมาแสดงครั้งนี้ อาทิเช่น กระดาษจากใบตอง เครื่องประดับที่นำอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ของบ้านเชียงมาพัฒนาปรับรูปแบบใหม่ เป็นต้น จะเห็นว่าการใช้นวัตกรรมหรือความคิดใหม่ๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากขึ้นอีกด้วย เชื่อว่ากิจกรรมในครั้งนี้คือหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จ โดยโมเดลเหล่านี้พื้นอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้และขยายผลต่อยอดพัฒนาพื้นที่นั้นในอนาคตได้ต่อไป
สำหรับผลงานวิจัยที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กองทุน ววน. ในการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาส และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการเข้าถึงและขยายผลผลงานวิจัยในพื้นที่จริง จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่งผลให้นักวิจัยได้พัฒนาร่วมมือกับชุมชน ในการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย 28 ผลงาน ร้านค้าแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผลงานวิจัยของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สินค้าจากผลงานวิจัยของ มรภ.สวนสุนันทา รวม 17 ร้านค้า การมอบต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน การบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ ประจำปี 2566” การเสวนาและนำเสนอ “SID-Talks” ตอน นวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน หัวข้อ ผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ และกิจกรรม Workshop จากโครงการของนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน SIDUP- Isan เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจ ผลงานการวิจัย สามารถเข้าชมผ่านทาง www.rid.ssru.ac.th หรือ เข้าชมการแสดงนิทรรศการผลงาน และงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวได้ ณ บริเวณชั้น 1 หน้าร้าน H&M ศูนย์การค้าเซ็นทรัลบางนา ตั้งแต่ วันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2566