มจธ. ผุดโครงการ Co-Creation จับมือเอกชนชั้นนำ เฟ้นหาดาวเด่นวิศวะคอมฯ ปี 4 ปั้นนวัตกรรม-ดันรุ่นใหม่สู่การทำจริง

   เมื่อ : 21 ส.ค. 2566

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือกับเอกชนชั้นนำ ผลักดันโปรเจกต์ Co-Creation โครงการฝึกงานรูปแบบใหม่ ให้นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 4 ใช้เวลา 6 เดือน นำทักษะดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านโจทย์ที่เอกชนกำหนด เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถต่อยอดสู่ตลาดเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยได้ พร้อมกับเปิดเวทีให้นักศึกษาร่วมแข่งกันกับคนทำงานจริง นำเสนอผลงานเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ เสริมแกร่งรอบด้านให้นักศึกษา ขณะที่บริษัทเอกชนใช้โครงการนี้เป็นเวทีเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่นคัดเลือกเข้าสู่องค์กร

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านไอโอที ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. กล่าวว่า โครงการ Co-Creation เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่อยากให้นักศึกษาปี 4 ได้มีโอกาสนำทักษะใช้งานจริงก่อนสำเร็จการศึกษา ผ่านโจทย์ หรือ นวัตกรรมที่มีแนวโน้มนำไปใช้จริงได้ในโลกธุรกิจ โดยร่วมมือกับบริษัทเอกชน จัดเป็นรูปแบบการฝึกงานเข้มข้น 6 เดือน โดยเอกชนจัดทีมงานมาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมมอบโจทย์ในการทำงานให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นโจทย์ที่มีทั้งเรื่องใหม่ที่บริษัทต้องการพัฒนา รวมถึงโจทย์ที่บริษัทต้องการต่อยอดนวัตกรรม มาให้นักศึกษาได้ลองคิดค้นโซลูชัน หรือ แอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ดังกล่าว โดยใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีของบริษัทได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็ยังมีอาจารย์พี่เลี้ยงที่คอยดูแลและช่วยสนับสนุนการแก้โจทย์และพัฒนานวัตกรรมของนักศึกษาไปตลอดครึ่งปีของการฝึกงาน

 

“Co-Creation ปีที่ 1 นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มหาวิทยาลัยคัดเลือกนักศึกษาไปฝึกงานที่บริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท CDG ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการ Co-Creation โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี Thai ID Card Recognition ตรวจสอบบัตรประชาชนจริงและปลอมขึ้นมา และเป็นโครงการที่ส่งให้นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับรางวัลจากเวทีประกวด CDG Innovation Challenge 2022 ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มบริษัท CDG แข่งขันบนเวทีเดียวกันกับคนทำงาน ความสำเร็จนี้ทำให้หลังจบโครงการ Co-Creation นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับเลือกให้เข้าทำงานกับบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท CDG ทันที ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่สำคัญมากๆ สำหรับนักศึกษา เพราะไม่เพียงได้ทดลองทำงานในโลกการทำงานจริง ยังได้โอกาสทำงานกับบริษัทชั้นนำของประเทศด้วย” รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าว

ด้าน คุณวรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการส่วนผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ บริษัท จีไอเอส จำกัด ตัวแทนผู้บริหารจากกลุ่มบริษัท CDG เล่าว่า CDG มองเห็นว่าโครงการ Co-Creation เป็นโครงการที่ได้ประโยชน์ครบวงจร โดยเฉพาะประโยชน์ต่อบริษัท เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่บริษัทต้องการศึกษา อยากพัฒนา ก็ได้ลองสร้างเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้ลองทำ พร้อมกับให้ทีมงานของบริษัทซึ่งมอบหมายเป็นพี่เลี้ยงก็มีโอกาสได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับนักศึกษา ทั้งยังได้มุมมองจากอาจารย์พี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญ นำทฤษฎีมาเพิ่มจุดแข็งให้กับโปรเจกต์ ซึ่งช่วยให้โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากนักศึกษาในโครงการนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะสามารถนำไปต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ดิจิทัลเพื่อธุรกิจได้ ขณะเดียวกันในด้านการเฟ้นหาทรัพยากรบุคคลมาร่วมงาน ก็นับเป็นเวทีที่จะได้คัดสรรคนคุณภาพจากโครงการนี้

คุณวรินทร กล่าวว่า “บริษัทเปิดโอกาสให้นักศึกษาสัมผัสกับการทำงานอย่างเต็มที่ อยากรู้เรื่องไหน หากเป็นเรื่องที่บริษัทยังไม่ได้ทำ ก็ให้พี่เลี้ยงกับนักศึกษาได้ทำไปด้วยกันซึ่งทำได้อย่างดี ในปีแรกนี้ บริษัทเลือกโจทย์ 2 หัวข้อ เป็นโจทย์ใหม่ที่บริษัทยังไม่เคยทำ แต่เกี่ยวโยงกับความต้องการของบริษัท ซึ่งการจะทำอะไรใหม่ๆ บางครั้งอาจยังไม่พร้อมที่จะทำ R&D เราจึงให้นักศึกษาที่มีความรู้ มาลองทำงานร่วมกัน และผลักดันให้เกิดเป็นโปรเจกต์ใหม่ขึ้นมาได้ ทั้งนี้จากปีที่ 1 ได้บทเรียนใหม่ๆ มาต่อยอดสู่ปีที่ 2 โดยปรับขอบเขตของโจทย์ให้เล็กลง เพื่อให้เหมาะสมกับระยะเวลา 6 เดือน และนักศึกษาสามารถออกแบบพัฒนาโซลูชั่น หรือ แอปพลิเคชันที่เห็นภาพและสามารถนำไปศึกษาเพิ่มเติมสู่การสร้างผลงานจริงได้ไม่ยาก”


 

โครงการ Co-Creation ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2565 โดย มจธ. คัดเลือกนักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จำนวน 14 คน เข้าฝึกงานหลักสูตรเข้มข้นที่บริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด ซึ่งมีนักศึกษาได้รับเลือกให้เข้าทำงานเป็นพนักงานประจำทันทีหลังจบโครงการ จำนวน 4 คน โดยนักศึกษา 3 ใน 4 คน ได้แก่ นายกรวิชญ์ วาสนารุ่งเรืองสุข นายทวีศักดิ์ กิ่งโคกกรวด และนายไตรสิทธิ์ มีกรูด ส่งผลงาน Thai ID Card Recognition เข้าประกวดและคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ พร้อมกับได้ทำงานในบริษัทคอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ทันที

โดยจุดเด่นของโครงการ Co-Creation คือ บริษัทกำหนดเพียงโจทย์ว่าสิ่งที่บริษัทอยากได้คืออะไรมาให้ โดยไม่จำกัดเครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่จะใช้ ทีมนักศึกษาสามารถดีไซน์และพัฒนาได้อย่างอิสระ เช่น ผลงาน Thai ID Card Recognition ที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบจริงกับบัตรปลอม มีความสามารถในการจับภาพ และอ่านข้อความบนบัตรได้อัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติม


 

“การสร้างโปรเจกต์ค่อนข้างมีความอิสระในการดีไซน์ สามารถเลือกเครื่องมือ ออกแบบโซลูชันเองได้เองทั้งระบบ นอกจากนี้ที่เป็นประสบการณ์มากๆ คือ การได้ pitching หรือแข่งขัน ช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกคิดและนำเสนอนวัตกรรมของทีมในมุมธุรกิจ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ เมื่อต้องทำงานในอุตสาหกรรมจริงๆ” กลุ่มนักศึกษากล่าว


 

รศ. ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ กล่าวว่า โครงการ Co-Creation เกิดขึ้นจากแนวคิดของ ผศ.ดร. กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. ที่ต่อยอดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรอบรมเข้มข้นให้กลุ่มคนทำงาน ซึ่งพบว่าความรู้จากการสร้างโปรเจกต์ในการอบรม สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาการทำงานขององค์กรได้จริง จึงขยายไอเดียสู่โครงการ Co-Creation เปิดพื้นที่ให้นักศึกษาปริญญาตรี ปี 4 ได้ลองเข้าไปทำงานกับบริษัทและเรียนรู้การทำงานจริง ต่อยอดสู่การสร้างโปรเจกต์หรือผลงานที่มีประโยชน์ต่อบริษัท ได้ประโยชน์ทั้งนักศึกษาและบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Co-Creation

“โครงการ Co-Creation ปี 2566 จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยเริ่มไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มจธ. ส่งนักศึกษา ปี 4 เข้าฝึกงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 11 คน เข้าฝึกงานในกลุ่มบริษัท CDG และยังคงมุ่งหวังพัฒนาโครงการนี้ไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับขยายความร่วมมือสู่บริษัทเอกชนอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มีโปรเจกต์ หรือมีนวัตกรรมที่สนใจ ต้องการพัฒนา รวมถึงบริษัทที่ต้องการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือ มีความสามารถโดดเด่น ได้ทดลองทำงานกับองค์กร และสามารถทำงานร่วมกับองค์กรได้ ก่อนคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ก็เชื่อว่าโครงการ Co-Creation จะตอบโจทย์อย่างมาก” รศ. ดร.ราชวดี เสริม


 

บริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Co-Creation หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ (Login) มจธ. ที่อีเมล log-in@mail.kmutt.ac.th หรือโทร 089 494 0904