“ดีพร้อม” เผยครึ่งปีแรก ดันมูลค่า ศก.โต กว่า 5000 ลบ. โชว์ชุมชนดีพร้อมโมเดลชิ้นโบว์แดง พร้อมเร่งเครื่องกระตุ้น ศก. ครึ่งปีหลัง

   เมื่อ : 20 ส.ค. 2566

กรุงเทพฯ 15 สิงหาคม 2566 - กรมส่งเสริมอุดสาหกรรม หรือดีพร้อม แถลงผลสําเร็จการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมกว่า 28000 ราย ดันมูลค่าทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกโตกว่า 
5000 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมโชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงสร้างอุตสาหกรรมคู่ชุมชนผ่านโมเดลชุมชนดีพร้อม

 

               นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทย
มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวและการบริโภคของภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวอันส่งผลดี
กับภาคอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย จึงมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งดําเนินการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ มิติ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจ
ของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้นํานโยบายอุตสาหกรรม
คู่ชุมชน หรือ MIND ของปลัดฯ มาขับเคลื่อนองค์กรและส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชน ภายใต้นโยบาย ดีพร้อมโต “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” ซึ่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ดีพร้อมดําเนินงานขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการยกระดับในทุกองค์ประกอบของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และประชาชนแล้วกว่า 28000 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5000 ล้านบาท ผ่าน 4 กลไกโต ดังนี้

 

               1. โตได้ (START) สนับสนุนให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับเกษตรกรสู่นักธุรกิจเกษตรผ่านโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม 
การยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจชุมชน การจัดตั้งและขยายธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน รวมทั้ง
การส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย โดยในปี 2566 สามารถขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เครือข่ายเงินทุน 
และเครือข่ายตลาดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 
1000 ล้านบาท

 

               2. โตไว (SPEED) ส่งเสริมให้เอสเอ็มอีมีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการลดต้นทุน สร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อาทิ การสร้างและพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 
การปรับธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล 
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดหลัก “เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน เปลี่ยนต้นทุนเป็นกําไร” เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยในปี 2566 
สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1800 ล้านบาท

 

               3. โตไกล (SCALE) ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่เวทีโลกด้วยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน การพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมและบริการ
ทางการแพทย์ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล และการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะเดียวกัน ครึ่งปีหลังดีพร้อม ยังเดินหน้ายกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์
เพื่อรองรับการเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งยานยนต์อีวีและยานยนต์ไฮบริด ทั้งนี้ ได้มีการนําร่องสร้างต้นแบบ
ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยการนํารถยนต์ราชการอย่างรถมินิบัสและรถตู้ที่มีสภาพไม่พร้อมใช้งานมาดัดแปลงเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งคาดว่าจะสามารถทดสอบ 
การวิ่ง (Test Run) ภายในเดือนกันยายนนี้ รวมทั้งพัฒนาต้นแบบรถสามล้อไฟฟ้าและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีกด้วย

 

               4. โตให้ยั่งยืน (SUSTAINABLE) ทําให้อุตสาหกรรมเติบโตคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG Model ที่เน้นรักษาสิ่งแวดล้อมและชุมชน สนับสนุนปัจจัยเอื้อต่อธุรกิจและเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐ
ผ่านการดําเนินงานต่าง ๆ อาทิ การยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบรอบด้าน รวมทั้งเชื่อมโยงงานวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมจากไบโอพลาสติก การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนําของเสีย หรือวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ตลอดจนการยกระดับพืชกัญชงซึ่งได้พัฒนาเครื่องคัดแยกวัตถุดิบและเครื่องคัดแยกเส้นใยนําร่องสู่การแปรรูป เป็นวัสดุเส้นใยแห่งอนาคต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดยการให้คําแนะนําติดตั้งโซล่าเซลล์ภายในโรงงานเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กว่า 500000 กิโลคาร์บอนต่อปี

 

               นายใบน้อย กล่าวต่อว่า ดีพร้อมยังได้มีการเชื่อมโยงและขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดงานแฟร์และการจับคู่ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมแฟร์ ด้วยการเปิดพื้นที่
สร้างช่องทางการจําหน่ายและขยายโอกาส รวมถึงเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับชุมชน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่า
ทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 860 ล้านบาท ตลอดจนงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติต่าง ๆ โดยก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3380 ล้านบาท นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก หนึ่งในฟันเฟืองการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านโมเดลชุมชนดีพร้อม เพื่อบูรณาการผู้ประกอบการ
ที่มีศักยภาพและจิตสาธารณะ หรือดีพร้อมฮีโร่กับชุมชน จํานวน 21 ราย และประสานประโยชน์ไปยังชุมชนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมกว่า 3080 ครัวเรือน 10900 ราย และกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้กว่า 600 ล้านบาท

               สําหรับในครึ่งปีหลัง 2566 นี้ ดีพร้อมมีแผนที่จะส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการ
อย่างเข้มข้นและครบทุกมิติผ่านกลไกลนโยบายดีพร้อม 4 โต โดยเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
ด้านการตลาดออนไลน์ การเชื่อมโยงและขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการต่อยอดความสําเร็จของโครงการอาชีพดีพร้อมและนักส่งเสริมอาชีพดีพร้อมด้วย Soft Power ด้านอาหาร หรือ
เมนูเด็ดดีพร้อม เพื่อยกระดับศักยภาพตามแนวทาง Soft Power ให้แก่ชุมชนนำร่อง 22 ชุมชนทั่วประเทศ 
ทั้งนี้ ดีพร้อม คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 นี้ จะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจเกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้
ได้อย่างแน่นอน นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย

 

                                    ###

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ