ศิริราชเปิดตัว “SiMPC Services” ศูนย์บริการวิเคราะห์ชีวโมเลกุลและฟีโนมิกส์ พร้อมเทคโนโลยีชีววิเคราะห์ขั้นสูง ยกระดับงานวิจัยไทยสู่เวทีโลก

16 กรกฎาคม 2568 – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงเปิดตัว “SiMPC Services” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นหน่วยบริการวิเคราะห์ระดับแนวหน้าด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมิกส์ ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช (Siriraj Metabolomics and Phenomics Center: SiMPC) และ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยมีพันธกิจในการผลักดันงานวิจัยด้านชีวโมเลกุลของประเทศให้ก้าวไกลสู่ระดับนานาชาติ
ศูนย์ฯ มุ่งให้บริการวิเคราะห์สารชีวโมเลกุลขนาดเล็กจากตัวอย่างทางคลินิก อาทิ เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ รวมถึงสารออกฤทธิ์จากธรรมชาติ สมุนไพร อาหารเสริม และพืชเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการแพทย์แม่นยำ การค้นพบสารออกฤทธิ์ใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม
การพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในระดับอุตสาหกรรม ในพิธีเปิดครั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ ได้แก่ บริษัท DKSH Technology Limited บริษัท Waters Corporation และบริษัท Agilent Technologies (ประเทศไทย) เพื่อสนับสนุนการวิจัยด้านเมตาโบโลมิกส์ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์แมสสเปกโตรเมตรี (Mass Spectrometry) ชั้นนำ เช่น Ion Mobility-Mass Spectrometry (IM-MS) LC-MS/MS และ GC-MS/MS โดยมีผู้ร่วมลงนาม ได้แก่
• ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
• ศ. ดร. นพ. ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช และผู้อำนวยการ SiMPC
• Mr. Marco Farina Vice President Scientific Solutions Technology DKSH
• Ms. Pooja Mayee General Manager Southeast Asia Waters Corporation
• คุณ กิตติวรรณ กัลยาณมิตร Country General Manager Agilent Technologies Thailand
• คุณ ยุวภา คารพานนท์ Country General Manager Agilent Technologies Thailand
ศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านชีวโมเลกุลและฟีโนมศิริราช กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการผสานพลังระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศวิจัยไทย และตอกย้ำบทบาทของศูนย์ฯ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ การแพทย์ และอุตสาหกรรมชีวภาพ”
ภายในงานยังประกอบด้วยกิจกรรมพิเศษ อาทิ
• ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “From Discovery to Applications: Siriraj and the Growth of Metabolomics in Thailand” โดย รศ. ดร. ศักดิ์ดา คุ้มหรั่ง
• นิทรรศการเทคโนโลยีชีววิเคราะห์ชั้นสูง และผลงานวิจัยเด่นจากศูนย์ฯ ได้แก่:
High-resolution Mass Spectrometry Imaging เทคโนโลยีการถ่ายภาพแมสสเปกโตรเมตรีความละเอียดสูงที่ไม่ต้องติดฉลากหรือนำสารออกจากตัวอย่าง ใช้ศึกษาองค์ประกอบและการกระจายตัวของโมเลกุลในเนื้อเยื่อมนุษย์ สมุนไพร และมะเร็ง ถือเป็นแห่งแรกในไทยและนับแห่งได้ในภูมิภาคอาเซียนที่พัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างเป็นระบบ
Metabox 2.0 แพลตฟอร์มวิเคราะห์เมตาโบโลมิกส์ที่รองรับข้อมูลจากเทคโนโลยีโอมิกส์หลายประเภท ใช้งานง่ายและแม่นยำ เหมาะสำหรับการพัฒนาวิจัยการแพทย์แม่นยำ อาหาร ยา และสมุนไพรเพื่อความได้เปรียบเชิงอุตสาหกรรม
SiMD (Siriraj Metabolomics Data Warehouse) ฐานข้อมูลสเปกตราจาก Ion mobility และ Mass Spectrometry ครอบคลุมสารชีวโมเลกุลและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกว่า 800 ชนิด เพื่อรองรับงานวิจัยระดับประเทศ
Zebrafish Platform ระบบโมเดลปลาม้าลายเพื่อประเมินฤทธิ์ของสารชีวภาพในระดับโมเลกุลและระบบ ใช้คัดกรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนเข้าสู่ตลาด
นอกจากนี้ SiMPC ยังดำเนินการวิจัยเพื่อต่อยอดสู่การวินิจฉัยและรักษาโรคเรื้อรังที่สำคัญของประเทศ อาทิ โรคไตเรื้อรัง มะเร็งปอด โรคตับ และโรคผิวหนัง โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบแม่นยำ และการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพที่ตอบโจทย์ตลาด
พิธีเปิด SiMPC Services จัดขึ้นในวันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.30–12.00 น.
ณ ห้องประชุมสิริรธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์วิจัย SiMPC ชั้น 9 อาคารศรีสวรินทิรา รพ.ศิริราช โดยมีผู้บริหารจากภาครัฐ ภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
#####