กทปส. พาเปิดห้องเรียนคลื่นลูกใหม่ “สะเต็มแล็บแอดวานซ์” โลกการพัฒนาทักษะเด็กเล็กสู่นวัตกร เติมเต็ม “นิวเจน” กว่า 250 โรงเรียน สู่ตลาดนวัตกรรมและวงการโทรคมนาคม
การสร้างทักษะด้านเทคโนโลยีผ่านการปฏิบัติงานจริง รวมถึงการห้องแล็บสำหรับเด็กเล็กเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเรียนแบบ Active Learning จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าลงมือทำ ทั้งยังมองเห็นปัญหาและแก้อุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลายสถาบันการศึกษาได้มีการปรับห้องเรียนให้มีลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะในรูปแบบของ“สะเต็มศึกษา” เพื่อพัฒนาการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรุ่นจิ๋ว ซึ่งไม่เพียงแต่โรงเรียนเท่านั้นที่มีการบ่มเพาะเรื่องนี้ แม้แต่หน่วยงานที่สนับสนุนงานวิจัยอย่าง กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ก็ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการศึกษาแบบสะเต็มเช่นเดียวกันกับ “โครงการห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน (STEMLAB)” ที่เป็นการสนับสนุนทั้งหลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญ ระบบปฏิบัติการ และเครื่องมือด้านโทรคมนาคมสุดแอดวานซ์ ซัพพอร์ตความฝันและเติมทักษะสะเต็มไทยให้ดีกว่าในอดีต
เพราะขาดแคลนเครื่องมือ เราจึงเข้ามาช่วยเติมเต็ม เปิดแนวคิดการสร้าง STEMLAB
นายพลกฤษณ์ สุขเฉลิม ผู้ออกแบบห้องปฏิบัติการ STEMLAB และหลักสูตรการเรียน เปิดเผยว่า โครงการห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน (STEMLAB) มีแนวคิดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จากการทำโครงการอวกาศที่ร่วมกับโรงเรียนมัธยมในประเทศไทย และได้พบว่าครู บุคลากร และนักเรียนมีความสามารถมากแต่ขาดแคลนเครื่องมือ จึงได้นำปัญหาที่พบมาสร้างเป็นต้นแบบห้องปฏิบัติการที่มีทั้งเครื่องมือ และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในปี พ.ศ. 2560 โดยได้งบประมาณมาเพื่อสร้างห้องปฏิบัติการ 2 แห่งแรกในโรงเรียนมัธยมในประเทศไทย และผลลัพธ์ก็ออกมาดี ในปีต่อไปทางโครงการฯ จึงได้งบประมาณสนับสนุนมาเรื่อยๆ จนพัฒนาได้เกือบ 200 แห่งทั่วประเทศ และในปีที่ผ่านมาโครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. จนสามารถสร้างห้องปฏิบัติการได้เพิ่มอีกมากถึง 27 แห่ง โดยมีการกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ผ่านการสร้างห้องปฏิบัติการที่ทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะการสร้าง 4G 5G และดาวเทียม นับว่าเป็นการขยายผล และเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากที่ดีอยู่แล้วด้วย
ห้องแล็บสุดคูล มาพร้อมเครื่องมือด้านโทรคมนาคม ซัพพอร์ตเด็กรุ่นใหม่ต่อยอดนวัตกรรม
สำหรับห้องปฏิบัติการ STEMLAB ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กทปส. มีเครื่องมือเพิ่มเติมเกี่ยวกับด้านโทรคมนาคม เพื่อช่วยสร้างสิ่งประดิษฐ์ในกลุ่มนี้ เช่น ชุดสร้างดาวเทียม ชุดสร้างอุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์ในกลุ่ม software-defined radio (SDR) อุปกรณ์ตรวจคลื่นหัวใจ และสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน เป็นต้น ทางด้านบุคลากรที่เข้ามาบริหารจัดการห้องปฏิบัติการจะแบ่ง เป็น 2 ส่วน คือ 1) คุณครูประจำโรงเรียน โดยมีการอบรมคุณครูให้มีความคุ้นเคยกับห้องปฏิบัติการ ผ่านการอบรมครูแกนนำเพื่อเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับครูท่านอื่นๆ ในโรงเรียน และ 2) วิศวกรประจำห้องปฏิบัติการ โดยแต่ละห้องปฏิบัติการจะมีวิศวกรประจำห้องคอยดูแลซ่อมแซม และช่วยเหลือเด็กในแต่ละโรงเรียน เปรียบเสมือนบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดที่คอยแนะนำอุปกรณ์ และการใช้งานให้กับเด็กๆ โดยวิศวกรประจำห้องปฏิบัติการจะได้รับการฝึกฝนจากโครงการฯ มาเป็นอย่างดี
STEMLAB เปิดโอกาสสู้น้องๆ ประถมปลาย ค้นพบตัวเองได้เร็วขึ้น
ดร.พิรดา เตชะวิจิตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการบิน วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า โครงการห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน (STEMLAB) ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามากระตุ้นทำให้เด็กค้นพบความชอบของได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อเริ่มฝึกฝนทักษะที่ค้นพบให้เร็วที่สุด และปั้นเด็กรุ่นใหม่ให้ไปตามความฝันที่พวกเขาต้องการได้ โดยในปีนี้โครงการห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน (STEMLAB) ได้เพิ่มห้องปฏิบัติการให้นักเรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลาย โดยมีการเพิ่มความปลอดภัยให้ห้องปฏิบัติการ และอุปกรณ์ต่างๆ ให้มากขึ้น และเน้นการเรียนาการสอนที่มีความสนุก และตื่นเต้น แฝงการสังเกตจากการทดลอง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นความยากของเนื้อหาเหมือนกับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กได้มากกว่า
ในปัจจุบันมีผลตอบรับด้านความพึงพอใจของโรงเรียนและนักเรียนที่ออกมาดีมาก มีนักเรียนเข้าใช้งานห้องปฏิบัติการหลายพันคนต่อปี เกิดภาพที่เด็กๆ เข้ามาประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ มากมายในห้องปฏิบัติการของเรา ในขณะเดียวกันคุณครูก็ได้สอนในเรื่องใหม่ที่มีความท้าทาย และความสนุกมากยิ่งขึ้น สำหรับทางโรงเรียนที่สมัครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ STEMLAB ก็มีมากถึง 250 โรงเรียน สะท้อนให้เห็นได้ว่า ห้องปฏิบัติการในรูปแบบนี้ได้รับความสนใจจากสถานศึกษาเป็นจำนวนมาก
· จากห้องแล็บในโรงเรียนก้าวสู่การสร้างประโยชน์สาธารณะร่วมกับ กทปส.
โครงการพยายามหาทุนมาเรื่อยๆ เพื่อซัพพอร์ตความฝันของเด็กในห้องแล็บ โดยทางกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. ก็ได้เห็นถึงความสำคัญของโครงการห้องปฏิบัติการเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูงในโรงเรียน (STEMLAB) และเห็นถึงผลงานที่โครงการฯ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง จากการได้ทุนจาก กทปส. การทำให้ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการให้มีเครื่องมือเพื่อพัฒนาทักษะด้านโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้น รวมถึง กทปส. ยังเข้ามาช่วยเหลือในการปรับปรุงแบบแปลนและปรับปรุงรายการเครื่องมือให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มีช่วยดูแลในเรื่องหลักสูตร เพื่อทำให้ห้องปฏิบัติการมีความทันสมัย และตอบโจทย์ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด ดร.พิรดา กล่าวเสริม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8124 และ 02-554-8102 หรือติดตามความเคลื่อนไหวของ กทปส. ได้ที่ https://btfp.nbtc.go.th และ www.facebook.com/BTFPNEWS
###