“ข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา” เมนูชื่นใจ ต่อยอด Soft Power ไทยสู่เวทีโลก สร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ประกอบการยุคใหม่

การจัดการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาในปัจจุบัน ได้พัฒนาไปไกลกว่าการฝึกทักษะเฉพาะทางแบบเดิม แต่เป็นการสร้าง “นักปฏิบัติ” ที่มีความรู้รอบด้าน คิดเป็น ทำเป็น และพร้อมต่อยอดองค์ความรู้ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง อาชีวศึกษาจึงเป็นกลไกหลักในการผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเชื่อมโยงทักษะอาชีพเข้ากับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และตอบโจทย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง คือ กลุ่มอาหารและโภชนาการ ซึ่งไม่เพียงสร้างอาชีพ แต่ยังต่อยอดเป็น “Soft Power” ที่ผลักดันประเทศสู่เวทีโลก
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจยุคใหม่ และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งผลิตกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถคิดเป็น ทำเป็น และเป็นผู้ประกอบการได้จริง ซึ่งการเรียนอาชีวศึกษาคือการเรียนรู้จริง ลงมือปฏิบัติจริง เป็นอาชีวศึกษายุคใหม่ ผู้เรียนต้องสามารถนำความรู้มาใช้ต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เชื่อมโยงกับบริบทของสังคมและเศรษฐกิจ เป็นผู้ประกอบการที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ มีสมรรถนะเทียบเท่าสากล
นายรังสรรค์ บางรักน้อย ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา กล่าวถึงข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา ว่า วิทยาลัยฯ เมนูคลายร้อนที่สืบสานตำนานอาหารไทย โดยนางสาวรมิดา พรหมสุเนตร
ครูแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ และนายพุฒิพงศ์ กัลยาณศีล นางสาว ภัทรียา เจริญสุข นักศึกษา ปวส.2 และนางสาวธนัญญา เกตุรัตน์ นักศึกษา ปวช. 3 แผนกอาหารและโภชนาการ ร่วมจัดทำเมนูข้าวแช่ ตำรับอาชีวะเสาวภา
นางสาวรมิดา พรหมสุเนตร ครูแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ กล่าวว่า ข้าวแช่ว่า เป็นอาหารว่างชั้นสูงเพราะเป็นอาหารที่มีความปราณีต มีรายละเอียดและใช้ระยะเวลาในการทำ ส่วนตำรับอาชีวะเสาวภา คือ การรังสรรค์อาหารด้วยวัตถุดิบที่มาจากแหล่งผลิต และปรุงด้วยความปราณีต มีรสชาติดั้งเดิม โดยเครื่องเคียง ประกอบไปด้วย
ข้าวหุง – ที่นำข้าวหอมมะลิเก่ามาหุง เพราะเมล็ดข้าวไม่แข็งกระด้าง และไม่นุ่มเกินไป น้ำลอยดอกมะลิ – ต้มน้ำเดือดทิ้งไว้จนเย็น นำไปอบควันเทียน ใส่ดอกมะลิ เพิ่มกลิ่นหอม
เคล็ดลับน้ำข้าวแช่ คือ ใช้ดอกกระดังงารนไฟที่กระเปาะ แล้วนำแช่ในน้ำ และอบขวัญเทียนกับน้ำเพิ่มความหอม
ลูกกะปิ – ทำจากเนื้อปลาย่าง (ปลาช่อน หรือปลาดุก) ตะไคร้ กระชาย หัวหอม กะปิ และหัวกะทิ ปั้นเป็นลูกกลม ๆ ขนาดพอดีคำ นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
หอมแดงยัดไส้ – ทำจากเนื้อปลาย่าง (ปลาช่อน) โขลกกับเครื่องสมุนไพร นำไปปั้นก้อนเล็ก ๆ ยัดใส่ในหัวหอมแดงที่คว้านเนื้อตรงกลางออก นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
ลูกไข่เค็ม – ไข่แดงเค็ม ที่นำมาปั้นก้อนกลมเล็ก ๆ นำไปชุบไข่ผสมแป้งสาลี และทอดให้สุกกรอบ
หมูฝอย หรือเนื้อฝอย – ที่ผ่านการปรุงรส ฉีกเป็นฝอย เอาไปทอดกับน้ำตาล จนได้รสชาติหวาน
ไชโป้วผัดหวาน – ไชโป้วเส้นเล็กผัดกับน้ำตาลโตนด ให้รสชาติหวาน-เค็ม
พริกหยวกสอดไส้ – เนื้อกุ้ง หรือเนื้อหมูติดมันสับละเอียด ปรุงรส และนึ่งจนสุก นำไปห่อด้วยพริกหยวก และไข่ฝอยโรยกรอบ
ปลาช่อนฉาบน้ำตาล - เนื้อปลาช่อนหั่นชิ้น นำไปทอด พัก แล้วกับผัดสามเกลอ น้ำตาลมะพร้าวจนละลาย แล้วนำมาฉาบกับเครื่องปรุงน้ำตาลที่เตรียมไว้ ให้รสชาติหวานนำ เค็มตาม
ปลายี่สนผัดหวาน - เนื้อปลานึ่ง นำไปโขลกให้ละเอียด ไปผัดกับสามเกลอให้แห้ง ปรุงรสด้วยนำ้ตาลมะพร้าว เกลือ ให้รสชาติ หวานเค็ม
เครื่องแนม – ผัก และผลไม้ต่าง ๆ เช่น กระชาย แตงกวา มะม่วงเปรี้ยว ต้นหอมแกะสลัก
นางสาวธนัญญา เกตุรัตน์ (น้องเฟรม) นักศึกษา ปวช.3 สาขาอาหารและโภชนาการ แนะนำวิธีการรับประทาน โดยให้เริ่มรับประทานด้วยเครื่องเคียงคาว เช่น ลูกกะปิ หอมแดงสอดไส้ ลูกไข่เค็ม หมูฝอย หรือเนื้อฝอย ไชโป้วผัดหวาน พริกหยวกสอดไส้ จากนั้นให้สลับมารับประทานข้าวแช่ ซึ่งจะทำให้รสชาติของเครื่องเคียงคาวนั้นผสมผสานเข้ากันกับความสดชื่นของข้าวแช่ได้อย่างลงตัว
น้องเฟรม ยังบอกอีกว่า ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา ไม่ได้มีแค่การเรียนการสอนด้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีการฝึกทำ เช่น ขนมช่อม่วง ขนมเรไร หรือส้มฉุน ที่เป็นขนมว่างแบบไทย ๆ อีกด้วย
สำหรับน้อง ๆ ที่ชื่นชอบการทำอาหาร ที่นี่เปิดสอนทั้งระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ติดต่อสามารถสอบถามได้ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา หรือ www.swbvc.ac.th
######
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. / 22 เมษายน 2568
