GISTDA พาระบบการจัดการจราจรอวกาศ คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลการวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2568
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้รับ “รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี รางวัลการวิจัยแห่งชาติ” ประจำปีงบประมาณ 2568 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วยผลงาน “ระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON (เซอร์คอน)” ซึ่งออกแบบและพัฒนา
ทีมวิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ประกอบด้วย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ ดร.สุวัฒน์ ศรีเสวต หัวหน้าห้องปฏิบัติการกลศาสตร์วงโคจรจร (AstroLab) นายกีรติ พุทธสุวรรณ นักพัฒนานวัตกรรม และนายพศวีร์ เสียงเย็น นักพัฒนานวัตกรรม
ด้วยปัจจุบันในอวกาศเต็มไปด้วยวัตถุอวกาศจำนวนมากกว่า 550000 ชิ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการโคจรด้วยความเร็วสูงของวัตถุอวกาศต่างๆ เหล่านี้เป็นภัยคุกคามกับดาวเทียมหรือยานอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ จะทำให้ดาวเทียมเกิดความเสียหายส่งผลให้ประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจลดลงหรือไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ต่อไป นอกเหนือจากนี้ เศษซากดาวเทียมจะกลายเป็นขยะอวกาศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการชนกับดาวเทียมเพิ่มมากขึ้นจนเราไม่สามารถส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้อีก
ที่ผ่านมา GISTDA ได้ใช้บริการข้อมูลจากหน่วยงาน Combined Space Operations Center (CSpOC) ของสหรัฐอเมริกา ในการแจ้งเตือนและวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ของการพุ่งชน โดย CSpOC จะส่งการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ GISTDA ก่อนล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการดาวเทียมสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที อย่างไรก็ดี การใช้บริการข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศก็มีข้อจำกัดและมีความเสี่ยงในการที่ผู้ให้บริการไม่สามารถติดต่อได้ แจ้งล่าช้า หรือระงับการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลต่อการติดตามการจราจรการชนของดาวเทียมไทยทุกดวง
GISTDA เล็งเห็นว่าระบบการจัดการจราจรอวกาศเพื่อติดตามและแจ้งเตือนการชนเพื่อลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับดาวเทียมเป็นระบบที่มีความสำคัญมาก ทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ S-TREC จึงพัฒนาระบบการจัดการจราจรอวกาศที่เรียกว่า ZIRCON เพื่อให้สามารถบริหารจัดการอวกาศได้ด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการขอใช้บริการจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศตามนโยบาย National Roadmap ของการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System Frontier Research : ESS เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ
ที่ผ่านมา GISTDA ประสบความสำเร็จในการใช้งานระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศกับดาวเทียมไทยโชตตามที่ CSpOC แจ้งเตือน ให้ทราบล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน และช่วยวิเคราะห์การเปลี่ยนวงโคจรได้อย่างดี ทำให้ประหยัดเชื้อเพลิง และ ลดความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญ การติดตามการประเมินสถานการณ์และคาดการณ์จุดตกของสถานีอวกาศเทียนกง-1 กลับสู่โลก การแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี ตกสู่พื้นโลก หรือการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี วาย4 ตกสู่พื้นโลก เป็นต้น ปัจจุบันทางทางองค์การอวกาศฟิลปปินส์ หรือ Philippine Space Agency มีประสานหารือขอใช้บริการของระบบ ZIRCON ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ตามร่างนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (แผนโยบายและแผน SSA&STM) ภายใต้คณะนโยบายอวกาศแห่งชาติ สทอภ. มีหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแจ้งเตือนความเสี่ยงการชนในอวกาศกับดาวเทียมสัญชาติไทย ความเสี่ยงวัตถุอวกาศตกลงมากระทบประเทศไทย รวมไปถึงการทำฐานข้อมูลและปรับปรุงตำแหน่งของดาวเทียม หรือ Two line element (TLE) ดังนั้น สทอภ. มีแผนพัฒนาต่อยอดขีดความสามารถให้พร้อมบริการการจัดการจราจรอวกาศตามที่ระบุหน้าที่ สทอภ. ในร่างนโยบายและแผน SSA&STM
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศตาก GISTDA จะเข้ารับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป
#####