สิงคโปร์ ส่งดาวเทียมทดสอบในไทย ก่อนเตรียมนำส่งสู่วงโคจร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ (Nanyang Technological University’s Satellite Research Centre หรือ NTU Singapore) ร่วมทดสอบดาวเทียมชื่อว่า “ELITE” (Extremely Low Earth Imaging Technology Explorer) ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ GISTDA อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติจาก GISTDA กล่าวว่า ดาวเทียม “ELITE” เป็นดาวเทียมของประเทศสิงคโปร์ที่โคจรใกล้โลกมากที่สุดที่ 250 กิโลเมตร เหนือระดับน้ำทะเล และเป็นดาวเทียมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทย มีน้ำหนัก 180 กิโลกรัม และมีความสูง 1.3 เมตร ความกว้าง 0.73 เมตร และความยาว 0.74 เมตร
ซึ่งเมื่อกางแผงโซล่าร์เซลล์ออก จะมีขนาดความกว้างถึง 4.2 เมตร การทดสอบครั้งนี้ทาง GISTDA ได้ให้บริการทดสอบดาวเทียม ELITE ซึ่งเป็นดาวเทียมแบบจำลองเชิงวิศวกรรม (Engineering Qualification Model หรือ EQM) ที่ทางมหาวิทยาลัยได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานร่วมกันของระบบย่อยดาวเทียม ตลอดจนการทดสอบความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่มีความรุนแรงจากจรวดนำส่งและการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ
เพื่อลดความเสี่ยงก่อนการผลิตดาวเทียมตัวจริง (Flight Model หรือ FM) โดยการทดสอบประกอบด้วย 1. การทดสอบความทนทานต่ออุณหภูมิร้อนและเย็นในสภาวะสุญญากาศ (Thermal Vacuum Testing) 2. การทดสอบการสั่นสะเทือน (Vibration Testing) และ 3. การวัดคุณสมบัติเชิงมวล (Mass Properties Measurement) รวมถึงการทดสอบในด้านอื่นๆ เป็นเวลาร่วม 2 เดือน ซึ่งเป็นการทดสอบดาวเทียมของกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศเป็นครั้งแรก ถือเป็นอีกก้าวในการส่งเสริมและผลักดันให้ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติของ GISTDA เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรไทยให้มีความรู้ความสามารถ เปิดโอกาสการเรียนรู้ และเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมอวกาศในระดับสากล
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่เป็นส่วนช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจอวกาศในระดับโลกต่อไป รวมถึงยังสร้างเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติควบคู่กันไปด้วยเช่นกัน ภายหลังการทดสอบดาวเทียมแบบจำลองเชิงวิศวกรรม (EQM) ในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University มีแผนจะนำดาวเทียม ELITE Flight Model (FM) ซึ่งจะเป็นดาวเทียมดวงจริงที่จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศ มาเข้ารับการทดสอบกับ GISTDA อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2568
.
.ผู้อำนวยการศูนย์ผลิตดาวเทียมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ ได้มาตรฐานในระดับสากลโดยได้รับการรับรองมาตรฐานการบินอวกาศสากล AS9100 การที่ต่างชาติส่งดาวเทียมเข้ามาทดสอบในไทยเท่ากับสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้นว่ามีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศ ระบบนิเวศอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ รวมไปจนถึงบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จะส่งผลให้เศรษฐกิจอวกาศของไทยเติบโตขึ้น นอกจากนี้ทาง GISTDA ได้ให้บริการทดสอบและให้คำแนะนำด้านการพัฒนาอุปกรณ์ดาวเทียม แก่หน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชนชั้นนำ และหน่วยงานความมั่นคงในประเทศอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีอีกหลายประเทศที่จะส่งดาวเทียมและอุปกรณ์กี่ยวข้องเข้ามาทดสอบในไทยเพิ่มมากขึ้น
#####